ผวากองทุนน้ำมันฯติดหล่มหนี้แสนล้าน ชงครม.ป้ายแดงปัดฝุ่นลดภาษีน้ำมันดีเซล จัดงบกลางดูแลราคาพลังงาน
จังหวะนี้แม้โผครม.เศรษฐา 1 จะยังไม่นิ่ง 100% แต่ที่น่าจะชัดเจน รมว.พลังงานคนใหม่ เก้าอี้เป็นของ “พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” โควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้ก่อนหน้านี้จะมีชื่อของ“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”อดีตรมว.พลังงาน ที่ขอโบกมือลาใช้เวลาพักผ่อนหลังจากนี้
หากมองนโยบายพลังงานในตอนนี้ที่ต้องเร่งสะสางจัดการ ให้ได้ตามที่เคยหาเสียง ขายฝันกับประชาชนก็คือ การลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรมและเหมาะสม
สำหรับก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ที่ถูกตรึงราคาไว้ 423 บาท/ถัง(ขนาด15ก.ก.) กำลังจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ส.ค. 2566 ยามนี้คงต้องใช้วงประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เคาะแนวทางในการดำเนินการ
ในเบื้องต้นเชื่อว่าจะเลือกการตรึงราคาแอลพีจีออกไปก่อนอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อประคับประคองนโยบาย ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน โดยปัจจุบันใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาอยู่ 4.39 บาท/ก.ก. ทำให้ขณะนี้มีหนี้สะสมบัญชีแอลพีจีอยู่ 44,273 ล้านบาท ซึ่งตามกรอบวงเงินชดเชยแอลพีจีที่ครม.อนุมติไว้ให้ได้ถึง 48,000 ล้านบาท ดังนั้นยังมีช่องว่างส่วนต่างของการช่วยเหลือโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯได้อีกระยะหนึ่ง
แต่ในระยะยาวคงต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆประกอบด้วย ทั้งราคาตลาดโลก อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจสหรัฐ และจีน โดยเฉพาะช่วงปลายปีราคาแอลพีจีตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวของต่างประเทศหากยังคงตรึงราคาต่อไปก็ยิ่งเพิ่มภาระให้กับกองทุนน้ำมันฯมากขึ้น
ขณะที่การดูแลราคาดีเซล นับเป็นสินค้าทางการเมืองที่ทุกพรรคนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง รัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรึงราคาไว้ที่ลิตรละ 32 บาท ภายหลังยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิต 5 บาท/ลิตร ได้กลับมาใช้เงินกองทุนน้ำมันฯพยุงราคา ล่าอุดหนุนอยู่สุดลิตรละ 5.99 บาท หากเทียบกับราคาดีเซลที่สะท้อนตลาดจริงแล้ว ทุกคนต้อจ่ายค่าน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 38 บาท หรือต้องใช้เงินเฉลี่ยวันละ 60 ล้านบาทในการพยุงราคาไว้ และถ้าราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มเงินในการดูแลราคาแต่ละวัน
ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯติดลบอยู่ 53,087 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีแอลพีจี 44,273 ล้านบาท และบัญชีน้ำมัน 8,364 ล้านบาท แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯจะติดลบ แต่ก็ยังมีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องจากวงเงินกู้ยืมที่ได้รับจากมติครม.กำหนดไว้ภายในระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 5 ต.ค. 2566 เข้ามาเติมในระบบได้ตลอดเวลา ซึ่งบรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 1.1 แสนล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯกู้ยืมมาแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาทนำมาใช้ในการบริหารและยังคงเหลืออีก 5.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาคนไทยใช้ราคาดีเซลและแอลพีจีถูกกว่าตลาดโลกเป็นส่วนใหญ่ จากการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเข้าไปอุดหนุนราคาในช่วงที่ราคาตลาดโลกแพง จนเกิดปัญหาหนี้สะสมซ้ำซากเป็นวงจรอุบาทว์ มาแทบทุกรัฐบาล หนักสุดกองทุนน้ำมันฯติดลบ 1.3 แสนล้านบาท
รอบนี้เมื่อได้รัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีพลังงานป้ายแดง หากยังดันทุรังใช้เงินกองทุนน้ำมันฯชดเชยราคาพลังงานกันต่อไป ก็วกกลับไปจุดเดิมติดหนี้นับแสนล้านกันอีก โดยยอมใช้วงเงินกู้ยืมที่เปิดช่องไว้ เพราะยามนี้รายจ่ายมากกว่ารายรับแน่นอน
ทางออกตอนนี้ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันฯตอนนี้เตรียมเสนอรัฐมนตรีพลังงานป้ายแดงพิจารณากลับไปใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และของบกลางเพื่อนำมาใช้ในการดูแลราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระหนี้กองทุนน้ำมันฯที่ยังต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ตามความพยายามในการดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสมเพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชน ไม่ควรใช้วิธีการตรึงราคาเพียงอย่างเดียว แต่ควรส่งสัญญาณให้มีการปรับตัวกับสภาพความเป็นจริงเป็นระยะๆ น่าจะทำให้คนไทยได้เรียนรู้และมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงขึ้นไม่ใช่หวังพึ่งนโยบายประชานิยมเท่านั้น