‘ไทย-ยูเออี’  เจรจา CEPA  ตั้งเป้าเพิ่มยอดส่งออก8.5 พันล้านบาท

‘ไทย-ยูเออี’  เจรจา CEPA  ตั้งเป้าเพิ่มยอดส่งออก8.5 พันล้านบาท
'พาณิชย์’เดินหน้าเจรจา ไทย-ยูเออี CEPA ปิดรอบ 3 คืบหน้าตามเป้าหมาย ขยายการค้าและการลงทุน สินค้าไทยได้ประโยชน์เพียบ ทั้งอาหาร สิ่งทอแ

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าการเข้าร่วมประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า ในภาพรวมการเจรจาคืบหน้าด้วยดี ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า และคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ  โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา CEPA ไทย – ยูเออี รอบที่ 4 ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 ณ กรุงเทพฯ เพื่อสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ตามเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายตั้งไว้

สำหรับผลการศึกษาประเมินว่า การจัดทำ CEPA ระหว่างไทยกับยูเออี จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายผ่านการเปิดตลาด การอำนวยความสะดวก รวมทั้งลดและเลิกอุปสรรคทางการค้า โดยคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 190 – 243 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,652 - 8,508 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น อาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง และพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่สาขาบริการที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในการประชุมระดับหัวหน้าคณะ ฝ่ายไทยนำโดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นำโดยนาย Juma Mohammed Al Kait ผู้ช่วยปลัดด้านการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจยูเออี เพื่อกำกับดูแลการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ ประกอบด้วย (1) การค้าสินค้า (2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (4) มาตรการเยียวยาทางการค้า (5) การค้าบริการและการค้าดิจิทัล (6) ทรัพย์สินทางปัญญา (7) มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (8) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และ (9) ประเด็นด้านกฎหมาย

ปัจจุบันยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออี มีมูลค่า 20,474.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ค. 2566) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 11,120.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปยูเออี มูลค่า 1,817.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 9,302.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากยูเออี เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

 

TAGS: #ไทย-ยูเออี #CEPA #ส่งออก