‘บีโอไอ’ดันลงทุนภาคใต้ชูระเบียงเศรษฐกิจ SEC – เขตพิเศษชายแดน

‘บีโอไอ’ดันลงทุนภาคใต้ชูระเบียงเศรษฐกิจ SEC – เขตพิเศษชายแดน
‘บีโอไอ’ ดึงนักธุรกิจลงทุน ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้ หวังเชื่อมประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค

นายนฤตม์   เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าภาคใต้ จัดงาน “NEW Economy, NEW Opportunities” ที่จังหวัดสงขลา เพื่อประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ เน้นการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาคใต้มีศักยภาพ เช่นอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว และ BCG โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 180 คน

ทั้งนี้ภาคใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยภาคใต้มีความโดดเด่นในหลายมิติ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และแหล่งพำนักระยะยาวของชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งมีชุมชนขนาดใหญ่ติดอันดับโลกของกลุ่ม Digital Nomad และสตาร์ทอัพที่ภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะพงัน

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางแปรรูปอาหารทะเลและอาหารฮาลาล สำหรับความโดดเด่นด้านการค้าและโลจิสติกส์ ชายแดนภาคใต้ก็เป็นประตูการค้าสำคัญไปสู่มาเลเซียและสิงคโปร์ อีกทั้งกำลังจะมีโครงการ Land Bridge เชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จะเป็นประตูเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาอีกด้วย จะเห็นว่าภาคใต้มีทำเลที่ตั้งที่ดีและมีจุดแข็งอยู่มาก บีโอไอมองเห็นโอกาสในการดึงศักยภาพเหล่านี้มาทำให้เกิดพลังดึงดูดการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างความเจริญและอนาคตที่สดใสให้กับคนในพื้นที่

สำหรับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ตอนบน รัฐบาลมุ่งผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค รองรับการขนส่งทั้งทางทะเลและทางบก โดยประกาศ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี และเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน หรือ Land Bridge เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อการค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น และจีน ไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาทางฝั่งอันดามัน เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น  นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นแบบในการยกระดับการแปรรูปวัตถุดิบในพื้นที่สู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์แปรรูปและเคมีภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน

นอกจากนี้ ภาคใต้ตอนล่างยังมีศักยภาพในการเป็นประตูเศรษฐกิจการค้าแห่งภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับมาเลเซียและสิงคโปร์ สะท้อนจากมูลค่าการค้าชายแดนของภาคใต้กว่า 6.6 แสนล้านบาท นับว่าสูงที่สุดในประเทศ

นอกจากภาคการผลิตและโลจิสติกส์แล้ว ภาคใต้ยังมีศักยภาพสูงในภาคบริการ ทั้งการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหาร รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 11 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ นำโดยเมืองอัจฉริยะภูเก็ต หนึ่งในต้นแบบเมืองอัจฉริยะของไทย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาพำนักอาศัยและทำงานในประเทศไทยระยะยาว และช่วยต่อยอดและสร้างรายได้ให้แก่พื้นที่ท่องเที่ยวและชุมชนได้อย่างยั่งยืน

“ผมเชื่อมั่นว่าภาคใต้จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งการจัดงานที่ภาคใต้ครั้งนี้ เป็นโอกาสดีในการประชาสัมพันธ์ทิศทางและนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและหน่วยงานพันธมิตร เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดึงศักยภาพของภาคใต้มาต่อยอดสร้างมูลค่า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ”

ทั้งนี้ ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.- มิ.ย.) ของปี 2566 มีจำนวน 53 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 9,600 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ถุงมือยางทางการแพทย์ กิจการท่องเที่ยว และดิจิทัล

 

 

TAGS: #SEC #แลนด์บริดจ์ #เขตพิเศษชายแดนใต้