CBS จุฬาลงกรณ์ฯ X‘ IMF’มองเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ รับมือความผันผวนการเงินโลก

CBS จุฬาลงกรณ์ฯ X‘ IMF’มองเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ รับมือความผันผวนการเงินโลก
เศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด เผชิญความท้าทายจากความผันผวนทางการเงิน ดอลลาร์ที่แข็งค่าผลักแหล่งทุนออกนอกประเทศกำลังพัฒนา จับตา‘เศรษฐกิจจีน’ชะลอการเติบโต กระทบเม็ดเงินลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ช้าลง  

เจียเชียน เฉิน รองหัวหน้าฝ่ายวิจัยไอเอ็มเอฟ  (IMF-nternational Monetary Fund) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “External rebalancing in turbulent time” ความผันผวนของสกุลเงินต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงโลก จัดโดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ระบุแนวโน้มทางเศรษฐกิจโลกหลังผ่านพ้นช่วงโควิด พบว่าเงินสกุลต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในตลาดเกิดใหม่ เผชิญกับความผันผวนทางการเงินตลอดช่วงที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมริกายังแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่อปรากฎการณ์เงินทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ไหลออกไปยังกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกครั้ง

“ความเสี่ยงทางการเงินโลก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในเชิงลบ โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการนำเข้าในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่น อัตราเงินเฟ้อดีขึ้น จะสามารถบรรเทาผลกระทบเชิงลบเหล่านี้ได้” เฉิน กล่าว 

ตั้งรับเงินลงทุน หวนกลับตลาดเกิดใหม่ 

ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี กล่าวว่าจากรายงานของ IMF สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับประเทศซึ่งมีอัตราเร่งไม่เท่ากัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างแรง ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ดำเนินการทางนโยบายทางการเงินผ่อนคลาย ทำให้มีการเติบโตช้ากว่า

จากการขับเคลื่อนเกณฑ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ต้องดำเนินการนโยบายคืนตัวโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต่อสู่กับสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ และยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ด้วย

ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราค่าเงินที่แข็งตัวมากขึ้นโดยเฉพาะสกุลเงินยูเอสดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มแข็งค่าสูงขึ้นไปอีก จากปัจจัยสงครามยูเครนและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา อย่างต่อเนื่อง

“ปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของแหล่งทุนระหว่างประเทศเกิดขึ้น โดยเฉพาะการไหลออกของจากกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาออกไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงการเข้าไปอยู่ในหลักทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หรือเป็นการลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากนโยบายดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว” ผศ.ดร. รุ่งเรือง กล่าว  

ทั้งนี้ ถือเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยจากนี้ไป สู่การนำมาวางนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินเพื่อใช้พัฒนาประเทศ อาทิ โปรเจกต์ต่างๆ เงื่อนไขด้านการลงทุนใหม่ ท่ามกลางความท้าทายจากการปรับสมดุลสกุลเงินประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อให้ไทยมีโอกาสและข้อได้เปรียบเพื่อดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาในประเทศๆไทย ไม่ให้ไหลออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่น

ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับรายงานของ IMF จากการคาดการณ์ปริมาณการลงทุน จะเริ่มปรับสมดุลในอนาคต ภายหลังสงครามยูเครนและรัสเซียสิ้นสุด ทำให้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจลดน้อยลง และผลักดันให้ค่าเงินยูเอสดอลลาร์ อ่อนค่าลง  ส่งผลให้กระแสการลงทุนไหลกลับเข้ามายังประเทศที่กำลังพัฒนาต่อไป  

จับตาปัจจัย ‘เศรษฐกิจจีน’ ชะลอตัว

ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ กล่าวต่อถึงเศรษฐกิจประเทศจีน ที่มีอัตราการเติบโตช้าลงในขณะนี้ ที่อาจส่งผลกระทบในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน ซึ่งยังรวมไปถึงความกังวลจากปัจจัยใหม่ที่ยังคาดการณ​ไม่ได้ว่า จะเกิดสงครามในสมรภูมิภูมิใหม่ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยภายนอก เกินความคาดหมาย และอาจส่งผลให้กระแสเงินโลกมีความผันผวนอีกระลอก

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโต จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระทบเม็ดเงินการลงทุนมายังประเทศที่กำลังพัฒนาได้ช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้วยในขณะนี้เศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วมีปัจจัยต่างๆที่จูงใจต่อนักลงทุนสูงกว่า พร้อมคาดหวังว่าจีนจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้เร็ว

นอกจากนี้ ยังส่งผลดีกับเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ตามไปด้วย รวมถึงมีเม็ดเงินกลับมาลงทุนในเอเชีย จากข้อได้เปรียบด้านค่าแรง โครงสร้างประชากรที่เหมาะสมกับการบริโภคในอนาคต ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนยังรอที่จะไหลกลับเข้ามาในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ต่อยอด สู่นโยบายเศรษฐกิจ-การเงินไทย

ด้าน รศ.ดร พรอนงค์ บุษราตระกูล อาจารย์ประจำ ภาควิชาการ ธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(CBS) กล่าวว่า จากรายงาน IMF  หัวข้อ “External sector report: External rebalancing in turbulent time 2023” ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนเพื่อนำงานวิจัยมาต่อยอดสู่การนำมาใช้จริงในเชิงนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน ทั้งในระดับภาครัฐและอุตสาหกรรมธุรกิจเอกชนต่างๆ ที่จะมองเห็นภาพใหญ่การเปลี่ยนแปลงทางการเงินโลกในอนาคต พร้อมสร้างความเชื่อมโยงงานวิจัยฯจากระดับบนลงสู่ล่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

ด้าน ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(CBS)  กล่าวสรุปว่า การจัดงานเสวนาหัวข้อ “External rebalancing in turbulent time” ร่วมกันระหว่าง CBS และองค์กรระดับโลก IMF ในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงการดำเนินการของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ที่มุ่งให้ความสำคัญในบทบาทผู้ชี้นำทางด้านเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการเป็นสถาบัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการศึกษา

“รวมถึงการมีส่วนร่วมถ่ายทอดทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของโลกที่มีความผันผวนในขณะนี้ โดยได้รับโอกาสอันดีจากองค์กรระดับโลก IMF ร่วมให้มุมมองต่อนโยบายทางการเงิน การทำธุรกรรมทางการเงินระดับโลกที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกใหม่ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก”  ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

 

TAGS: #CBS #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #ไอเอ็มเอฟ #IMF #ค่าเงิน