ราคาพลังงานพาเหรดขยับช่วงปลายปี จับตามาตรการดูแลจากรัฐบาลใหม่

ราคาพลังงานพาเหรดขยับช่วงปลายปี จับตามาตรการดูแลจากรัฐบาลใหม่
สนพ.ประเมินราคาพลังงานยังผันผวนทิศทางขาขึ้นทั้งน้ำมัน แอลพีจี และLNG ขณะที่แนวโน้มการใช้พลังงานปี’66 ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในปรับตัวดีขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึง สถานการณ์พลังงานครึ่งหลังปี 2566 ว่า แนวโน้มราคาพลังงานอยู่ในทิศทางขาขึ้นและยังมีความผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่เบนซิน อยู่ที่ 96-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และดีเซลอยู่ที่ 91-98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยทิศทางราคาในไตรมาส 4 มีสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศตะวันตก และปัจจัยจากซาอุดิอาระเบียที่จะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตต่อไปอีก 1 เดือน

ด้านราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ปัจจุบันภาครัฐยังให้การดูแลตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถัง (15ก.ก.) จากการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลอยู่ก.ก.ละ 4.45 บาท โดยราคาแอลพีจีตลาดโลกในช่วงปลายปีมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว คาดการณ์เฉลี่ยทั้งปีราคาตลาดโลกจะอยู่ที่ 546 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งต้องมาดูว่าราคาตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อราคาขายในประเทศอย่างไร

สำหรับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้า นั้น ในช่วงครึ่งหลังของปีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13.18-19.19 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ปรับสูงขึ้นเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี

ขณะที่การผลิตก๊าซฯจากแหล่งG1 ในอ่าวไทยอาจไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ว่าในช่วงปลายปีจะผลิตได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน โดยขณะนี้อยู่ผลิตได้ในปริมาณ 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวันเท่านั้น และอาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)หรือ LNG มาทดแทน

อย่างไรก็ตามในช่วง  6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นมีปริมาณการใช้ อยู่ที่ระดับ 2,059 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.5 %เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 3.4% และการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 7.0 %จากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์และใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าในสาขาท่องเที่ยวและบริการที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลง 10.7% จากปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำเหนือเขื่อนของ สปป.ลาว มีปริมาณลดลง สำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ปรับตัวลดลงจากการใช้ที่ลดลงทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม โดยการใช้ถ่านหินลดลง 7.4% และการใช้ลิกไนต์ลดลง 6.3%

ส่วนการใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 101,043 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 2.2 % โดยมาจากการใช้ไฟฟ้าในส่วนของสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการเปิดประเทศในหลายประเทศ ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 9.3% โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในสาขาโรงแรม อะพาร์ตเมนต์ และเกสต์เฮาส์

ด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 3.8% จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัว สำหรับการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.8%  และสาขาอื่น ๆ (องค์กรไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฟ้าสาธารณะ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ทั้งนี้ ในปี 2566 มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

ทั้งนี้คาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้นของปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2,033 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.1% การใช้น้ำมัน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 836 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.2% การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 813 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.9 % การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ จะอยู่ที่ระดับ 322 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลง 5.4% และคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 201,913 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 2.4%

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานในอนาคตต่อไป

 

 

TAGS: #สนพ. #ราคาพลังงาน #เศรษฐา1 #LNG