ส่องนโยบายลดค่าไฟ ใครจะใช้หนี้ 1.3แสนล้านคืนให้กฟผ.

ส่องนโยบายลดค่าไฟ ใครจะใช้หนี้ 1.3แสนล้านคืนให้กฟผ.
รัฐบาลประชานิยม กดค่าไฟช่วยคนไทย ควานหาทางยืดหนี้แสนล้านให้กฟผ.เสี่ยงกระทบฐานะการเงิน

ดีเดย์ 11 -12 ก.ย.นี้ รัฐบาลเศรษฐา 1  เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา  ว่ากันว่า มาตรการประชานิยมลด แลก แจก แถม จัดเต็ม ตามที่สัญญากันไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  โดยนโยบายด้านพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า  ค่าน้ำมัน และค่าก๊าซ  นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน   ซึ่งต้องทำทันทีหลังประชุมครม.นัดแรก

ทั้งนี้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้างวดล่าสุด เดือนก.ย.-ธ.ค. 2566  แม้จะผ่านกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว โดยกำหนดให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ลดลงจากงวดก่อน(พ.ค.-ส.ค.) 4.70 บาทต่อหน่วย  แต่หากรัฐบาลต้องการให้ลดค่าไฟฟ้าให้มากกว่านี้ ก็คงทำได้เพราะเป็นเรื่องของนโยบาย

สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงคือ ภายใต้สูตรค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที)ที่มาจากค่าเชื้อเพลิงแล้ว ยังมีภาระที่ต้องจ่ายหนี้คืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จากการเข้ามาช่วยพยุงค่าไฟฟ้าแบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงเพื่อกดค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่าต้นทุนจริง นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 ถึง เดือนเม.ย. 2566 รวม 135,297 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดให้ทยอยจ่ายคืนเป็น 5 งวดๆละ 23,428 ล้านบาท  เริ่มจ่ายในงวด(ก.ย.-ธ.ค.)นี้โดยจะทำให้ภาระหนี้เหลือ 111,869  ล้านบาท

ในทางปฏิบัติหากต้องการให้ค่าไฟฟ้าลดลงอีกอย่างน้อย 10-20 สต.ต่อหน่วย ก็ทำได้ นั่นหมายความว่าต้องหยุดจ่ายหนี้คืนให้กฟผ.ไว้ก่อน ส่วนวิธีการหลังจากนั้น อาจใช้วิธีโยกหนี้ก้อนนี้ไปให้รัฐบาลดูแลแทน ซึ่งก็ต้องระมัดระวังในเรื่องหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้น  แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเมินเฉยกับหนี้ของกฟผ.ได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินยังต้องคงสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้

หรือรัฐบาลจะใช้วิธีการจัดสรรงบกลางมาดูแลค่าไฟฟ้า เหมือนที่เคยปฏิบัติกันมา  รวมถึงการหาแนวทางลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง โดยให้บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติลง

 นอกจากนี้ยังต้องมองถึงแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับค่าไฟฟ้าในอนาคตมีโอกาสที่ค่าไฟต้องปรับเพิ่มขึ้น ก็คือ การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง G1 หรือแหล่งเอราวัณ  ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากเดิมที่คาดการณ์จะมีกำลังการผลิตได้​ 600​ ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน​ แต่ล่าสุดยังผลิตได้เพียง​ 400​ ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG​) ที่มีราคาแพงกว่ามาทดแทน​ นั่นหมายความว่า ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าก็จะสูงขึ้นนี่ยังไม่รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำราคาถูกที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าในสปป.ลาว  ซึ่งทางสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ประเมินว่าจะหายไป 13.7% เทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ปมร้อนเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตามความพยายามในการช่วยลดภาระให้กับคนไทย เพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพในระยะสั้นเป็นเรื่องที่ทำได้  แต่การทำให้กฟผ.มีหนี้นับแสนล้านบาทย่อมไม่เป็นผลดี เพราะยังมีภารกิจอื่นที่ยังต้องดำเนินการในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

TAGS: #ประชานิยม #ลดค่าไฟฟ้า #หนี้กฟผ.