‘สยามพิวรรธน์’ จัดพันล. อัดอีเวนต์เฟสทีฟท้ายปี66 รับนักท่องเที่ยวหวนแตะ 30 ล้านคน

‘สยามพิวรรธน์’ จัดพันล. อัดอีเวนต์เฟสทีฟท้ายปี66 รับนักท่องเที่ยวหวนแตะ 30 ล้านคน
สยามพิวรรธน์ จัดหนักแคมเปญตลาด-อีเวนต์ช่วงเทศกาลเฟสทีฟส่งท้ายปีกำลังซื้อสดใส รับนักท่องเที่ยวต่างชาติลุ้นแตะ 30 ล้านคน

‘ชฎาทิพ จูตระกูล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ จ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในปี2566 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องนับจากต้นปีที่ผ่านมาถึงในขณะนี้  

โดยมีหลายปัจจัยบวก ทั้งการเปิดประเทศด้วยไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางระดับโลกที่นักท่องเที่ยวมาเยือน ความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวก (Infrastructure)ต่างๆ รวมไปถึงนโยบายฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะยิ่งผลักดันให้เศรษฐกิจไทย ช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้เติบโตมากขึ้น  

แนวโน้มดังกล่าว ยังส่งผลบวกต่อภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีก รวมถึงในกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ซึ่งจากต้นปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มนักเดินทาง 4 ชาติที่เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้ามากสุด คือ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ กลุ่มประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมายังศูนย์ฯในเครือสยามพิวรรธน์ มากกว่า 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปี 2565 มียอดการจับจ่ายโดยเฉลี่ย 8,500 ล้านบาทต่อคนต่อวัน เพิ่มมากขึ้นจากในปี2022 เฉลี่ยอยู่ที่ 5,500 บาทต่อคนต่อวัน

“ไทยยังเป็นที่1ในใจเสมอของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจากนโยบายรัฐในการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะผลักดันให้มีนักเดินทางมาไทยได้30 ล้านคนตามเป้าหมายที่วางไว้  ทำให้ศูนย์ฯในกลุ่มสยามพวรรธน์ มีทราฟฟิกอยู่ที่ 20-22 ล้านคน ในปีนี้” ชฎาทิพ กล่าว

โดยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทฯ เตรียมงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าในช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ยใช้งบฯราว 500-600 ล้านบาท จัดกิจกรรมการตลาดภายใต้แคมเปญต่างๆ และงานเคานต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้นปรับปีใหม่ ครั้งใหญ่สุดทั้งใน 5 ศูนย์การค้า

“โดยไอคอนสยาม ยังวางตำแหน่งให้เป็นเดสติเนชันงานฉลองปีใหม่ระดับโลก และ เป็นงานเคานต์ดาวน์เต็มรูปแบบหลังไทยผ่านพ้นช่วงโควิดไปแล้ว ด้วยไฮไลต์การจัดงานที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม และคาดว่าจะมีผู้ร่วมงานมากกว่า 300,000 คน/วัน สร้างยอดขายให้แก่ศูนย์การค้า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566” ชฎาทิพ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้วางแนวทางธุรกิจมุ่งสู่การเป็น ‘Win The World For Thailand’ ภายใต้ 4 กลยุทธ์สำคัญ หลัก ดังนี้

1.ขยายแบรนด์ลักซูรีใหม่ 20 แบรนด์ จากที่ผ่านมายอดขายสินค้าระดับหรูของศูนย์ฯการค้าในเครือติดอันดับท็อป 10 ระดับโลก โดยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา สินค้าลักซูรีแบรนด์มีอัตราการเติบโตสูงกว่า 400%

โดยในปี 2024 บริษัทฯ วางแผนจัดป๊อป-อัพ สโตร์ (Pop-Up Store) และงานอีเวนต์มากกว่า 40 แบรนด์ ส่วนลักซูรีแบรนด์มีแผนขยายร้านในรูปแบบสาขา ไอคอนิก ทั้งในศูนย์ฯไอคอนสยาม และ สยามพารากอน โดยร้านแต่ละแห่งคาดใช้งบลงทุนราว 150 ล้านบาท

2.เตรียมสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติแห่งใหม่ เพื่อรองรับการจัดงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ต เพื่อรองรับกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการประชุมสัมมนา (ไมซ์) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเดินทางคุณภาพที่มีศักยภาพ และใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 วัน/ทริป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับพันธมิตรธุรกิจอีเวนต์ระดับโลก ซึ่งมีความคืบหน้าแล้ว 80% พร้อมเปิดเผยข้อมูลอย่างอย่างเป็นทางการในปี 2024

โดยในปีนี้ บริษัทได้จัด 40 กิจกรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการประชุมสัมมนาได้ราว 1 แสนคน และใน2024 มีอัตราการจองพื้นที่แล้ว 70% เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับไทยด้านการเป็นจุดหมายปลายทางการจัดแสดงงานอีเวนต์ระดับโลก เช่น เดียวกับในสิงคโปร์  ที่เป็นหมุดหมายในอีเวนต์สำคัญทั้งการแข่งขันฟอร์มูลาร์ วัน และคอนเสิร์ต ศิลปินระดับโลก

3.ส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางศิลปะโลก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชิงศิลปะ ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อศักยภาพสูงเดินทางเข้ามามากขึ้น 

โดยเตรียมแผนเสนอรัฐบาล เพื่อผลักดันให้กรุงเทพเป็นศูนย์กลาง (Hub) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านการจัดงานศิลปะระดับโลก อาทิ งาน Art Basel และ Frieze เป็นต้น ซึ่งพร้อมเจรจาให้นำมาจัดแสดงในประเทศไทย และยังสามารถดึงงานศิลปะผลงานคนไทย ให้เข้าไปสอดแทรกได้เพื่อส่งเสริมงานศิลปะไทยในเวทีระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ การจัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะยังสามารถสร้างรายได้สะพัดในประเทศได้สูง อาทิ ในเกาหลีใต้ ได้มีการจัดงาน Frieze และงานอื่นๆ มีเม็ดเงินหมุนเวียนถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ มีแผนลงทุนราว 400 ล้านบาท สร้างศูนย์ศิลปะริเวอร์ มิวเซียม ขนาด 8,000 ตร.ม. คาดพร้อมเปิดในปี 2026 ซึ่งจะเป็นพิพิทธภัณฑ์รองรับศิลปะระดับโลกแห่งแรกของไทย ตั้งแต่ งานศิลปะของปิกัสโซ่ มัมมี จากอียิปต์ ซึ่งเป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ช่วงเปิดศูนย์ฯ ไอคอนสยาม

4.สร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ระดับโลก ในสินค้าไทยกลุ่ม SME ผ่านเมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ที่ปัจจุบันมีปริมาณลูกค้าหมุนเวียนกว่า 70,000 คน/วัน

ปัจจุบัน ศูนย์ฯ ทั้ง5 แห่ง มีทราฟฟิกชาวไทยและต่างชาติตลอดทั้งปี ราว100 ล้านคน หรือ เฉลี่ย 230,000-300,000 คนต่อวัน โดยในขณะนี้ธุรกิจค้าปลีกไทย ยังขึ้นเป็นอันดับ1 ในระดับภูมิภาค และยังแซงหน้าฮ่องกง ในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ด้วยเช้นกัน

 

TAGS: #สยามพิวรรธน์ #ชฑฎาทิพ #จูตระกูล