หอการค้าฯหวังมาตรการเศรษฐา1 ช่วยดันจีดีพีโตเกิน 3% ด้านดัชนีเชื่อมั่นฯขยับเพิ่มขึ้นรับรัฐบาลใหม่สลายขั้วการเมือง เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่า นโยบายรัฐบาลในการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ จะช่วยเพิ่มการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจได้ 24 ครั้งต่อปี และทำให้เกิดความคล่องตัวของเม็ดเงิน โดยที่ผ่านมาบัญชีเงินเดือนที่ใช้กันมาสังเกตได้ว่า ช่วงปลายเดือนหรือต้นเดือนที่เงินออกจะมีคนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันคึกคักทั้งร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า ดังนั้นหากมีปริมาณเงินหมุนได้มากขึ้น จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ทางกรมบัญชีกลางได้เปิดให้มีทางเลือกกับข้าราชการ จะเลือกใช้ระบบ 2 งวดหรือ งวดเดียว แต่ก็ต้องควบคู่กับวินัยการเงินของข้าราชการด้วย กรณีที่มีภาระการชำระหนี้ช่วงสิ้นเดือน
สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2566 (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.6 เป็น 56.9 ดีขึ้นหลังจากการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนเพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งหลังจากเดือนที่แล้วที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เนื่องจาก ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะจัดตั้งได้เร็วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่มีการแต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย และเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลงส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ
อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 51.6 53.9 และ 65.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ในระดับ 50.3 52.7 และ 63.9 ตามลำดับ สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลัยมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล แต่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
“ดัชนีเชื่อมั่น ฯออกมาในเชิงบวก เมื่อได้รัฐลาล ทำให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย เทียบกับเดือนก่อน ที่ต่ำสุดในรอบ 14 เดือนเพราะตั้งรัฐบาลล่าช้า แต่เมื่อได้นายกฯภายใต้การผสมผสานของขั้วการเมือง ส่งผลให้การเมืองผ่อนคลาย ทำให้ความเชื่อมั่นปรับตัวค่อนข้างดี ถ้ารัฐบาสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ประกาศออกมาทั้งลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน การเปิดฟรีวีซ่า นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน ภายในปีนี้ จะทำให้จีดีพีปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 3 %”