ช้อปดีมีคืน-ท่องเที่ยว ฟื้นเชื่อมั่นภาคอุตฯสูงสุดในรอบ 43 เดือน

ช้อปดีมีคืน-ท่องเที่ยว ฟื้นเชื่อมั่นภาคอุตฯสูงสุดในรอบ 43 เดือน
ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯเดือนแรกของปีทำสถิติสูงสุด ชี้ช้อปดีมีคืนทำเงินสะพัด 4.2 หมื่นล้าน ท่องเที่ยวคึกคัก  เกาะติดปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงาน

สุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 ในเดือนธันวาคม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562

ทั้งนี้มีปัจจัยจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งอานิสงส์ของมาตรการช้อปดีมีคืน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศที่คาดว่าจะมีเงินสะพัด 4.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเปิดประเทศของจีน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐและยุโรป เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทยโดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อเนื่องในปัจจัยด้านราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาททำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลง

 สุชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,321 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสอท.ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก  73% ราคาน้ำมัน 58.5 % อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 50.2 %  อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 48.6%

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 99.9 ในเดือนธันวาคม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ

อย่างไรก็ตามส.อ.ท. จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 4 เรื่อง คือ1.  เสนอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดที่ 2 สำหรับเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ

2. เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังมีปัญหาสภาพคล่องและขาดเงินทุนหมุนเวียน

3.เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ที่ได้เปรียบไทยเรื่องสิทธิทางภาษีต่างๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) และ FTA ระหว่างไทย-GCC (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ)

 

 

 

TAGS: #ส.อ.ท. #ดัชนีเชื่อมั่น #ช้อปดีมีคืน #ท่องเที่ยวฟื้น