รมว.อุตฯลงพื้นที่ชุมพร ถกรัฐ-เอกชนรับฟังปัญหาอุปสรรค ก่อนขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคใต้ เล็งตั้งนิคมฯใหม่ใน SEC ดีงลงทุนเชื่อมการค้า-โลจิสติกส์ รองรับแลนด์บริดจ์
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.งอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ร่วมกับ ภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร
ทั้งนี้ได้ให้นโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 2. การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ 3. การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ
สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) เป็นโครงการที่มีความสำคัญเนื่องจากจะเป็นเกตเวย์เชื่อมการขนส่งสินค้าท่าเรือแหลมฉบังกับทะเลอันดามัน จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้รวมถึงเศรษฐกิจภาพรวม สามารถดึงเงินลงทุนจากทั้งตรงและทางอ้อม
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor) หรือ SEC พื้นที่ 4 จังหวัด ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และผลักดันให้พื้นที่ SEC เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์ กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน
“การหารือครั้งนี้มุ่งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ เช่น กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจในระดับสากล”
สำหรับการส่งเสริมการพัฒนาแร่จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) ยังได้มีการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติ อนุญาต และการกำกับดูแล ให้มีความสะดวกรวดเร็ว มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวก
อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสนำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมการดำเนินงาน บริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง จำกัด หนึ่งในต้นแบบสถานประกอบการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ชูนโยบาย 4 มิติ สร้างความสมดุลการประกอบกิจการในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยรอบ
น.ส.พิมพ์ภัทรา ยอมรับว่าที่ผ่านมายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนสำหรับภาคประชาชน เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน โดยเหมารวมไปถึงทรัพยากรแร่ ซึ่งจริงๆ แล้ว แร่เป็นทรัพยากรของแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในเชิงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เข้าใจความรู้สึกของประชาชน โดยได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมือง หรือ “เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง” เพื่อให้การทำเหมืองเป็นไปอย่างถูกกฎหมายตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งการอนุญาตประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ จะทำได้เฉพาะในพื้นที่ตามที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ได้กําหนดไว้ โดยไม่อยู่ในพื้นที่ต้องห้าม อาทิ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตโบราณสถาน
สำหรับบริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง จำกัด มีกำลังการผลิตหินปูนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนตันต่อปี และมีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 6 ล้านตัน สามารถจ้างงานแรงงานในพื้นที่ได้มากกว่า 90% และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาขนส่งแร่และจำหน่าย เป็นการสร้างอาชีพต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก 300 ไร่ ที่เป็นแหล่งหินปูนคุณภาพดี