กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ Neutral rate ที่ 2.5% ตามที่ SCB EIC คาด พร้อมมองว่าสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย คาด กนง. คงดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงปี 67
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.5% ต่อปี
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2024 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยคณะกรรมการประเมินว่าในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพนโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า คณะกรรมการมองว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.8% ในปี 2023 และ 4.4% ในปี 2024 โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน
สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2024 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้ง จะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.6% ในปี 2023 และ 2.6% ในปี 2024
โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปี2023 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2024 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และ 2% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ ทั้งนี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะในปี 2024 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐและต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด
กนง. ประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง
โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้าด้านภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงวิกฤต แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทอ่อนค่าส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต
SCB EIC ประเมินว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยสิ้นสุดแล้ว หลัง กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ Neutral rate และจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องไปในปีหน้า
โดย กนง. ได้ดำเนินการปรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary policy normalization) ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวแล้ว ผ่านการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง 8 ครั้ง
รวมทั้งสิ้น 2.0% สู่ Terminal rate ที่ 2.5% ซึ่ง SCB EIC ประเมินไว้ว่าเป็นระดับ Neutral rate (ระดับอัตราดอกเบี้ยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% อย่างยั่งยืน) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาเป็นบวก ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ผ่านการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
SCB EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อเนื่อง หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่ประเมินไว้ เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากในปี 2024 แม้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้น แต่เศรษฐกิจจะยังเติบโตได้ในระดับศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% SCB EIC จึงประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ Neutral rate ยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในปีหน้า ทั้งนี้หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากอาจมีแรงส่งเพิ่มเติมของนโยบายภาครัฐ มุมมองการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมต่อไป