JSP มองอุตฯกัญชง-กัญชา ไร้นโยบายชัด รัฐต้องเร่งเคลียร์ ทำผู้ผลิตเกียร์ว่าง เสียหายหลักหมื่นล.

JSP มองอุตฯกัญชง-กัญชา  ไร้นโยบายชัด รัฐต้องเร่งเคลียร์  ทำผู้ผลิตเกียร์ว่าง เสียหายหลักหมื่นล.
JSP สะท้อนนโยบายกัญชง-กัญชา ไร้ความขัดเจนต่อบทบาทการใช้ในอุตสาหกรรม ทำเอกชนลงทุนโรงงานสกัดเสียหายหลักหมื่นล้านบาท สมาคมฯเกี่ยวข้องเตรียมยื่นหนังสือถึงรมว.สาธารณสุข เคลียร์

สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรมเจเสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ เจเอสพี (JSP)  ผู้ผลิตสินค้าสมุนไพรไทย (OEM) และทำตลาดสินค้าแบรนด์ตัวเอง (Own Brand) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรกัญชง กัญชา ของไทยในภาพรวมขณะนี้ พบว่า กลุ่มผู้ผลิตต้นน้ำ อาทิ เกษตรผู้ปลูกกัญชง กัญชา อยู่ในภาวะสุญกาศ หรือเข้าเกียร์ว่างต่อการพัฒนาและผลิตสินค้าสำเร็จรูป (Finished Product) จากสารสกัดกัญชง-กัญชา เพื่อทำตลาด

ด้วยหลังจากการเลือกตั้ง2566 พร้อมได้รัฐบาลชุดใหม่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศภายใต้พรรคเพื่อไทย พร้อมนโยบายกัญชาฉบับ #พูดแล้วทำ ในช่วงหาเสียงและไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  อดีตรมว.สาธารณสุข รัฐบาลชุดพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินนโยบายปลดล็อกกัญชา หรือ กัญชาเสรีตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดเดิมที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคธุรกิจทุกขนาดทั้ง รายเล็ก กลาง และใหญ่ ต่างหันมาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชา

ทั้งนี้ หากนโยบายภาครัฐยังไม่ชัดเจน จะส่งผลกระทบทั้งระบบ ด้วยผู้จำหน่ายเอกชนไม่สามารถนำสินค้าขึ้นทะเบียนอาหารและยา (อย.)ได้ ส่วนทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถนำไปใช้เพื่อจ่ายยาให้กับผู้เข้ามารับการรักษาได้ กรณีแพทย์จะเปิดคลินิกกัญชาในขณะนี้ ต่างกังวลว่าจะเสี่ยงต่อการเป็นยาเสพติดหรือไม่  ด้วยหากมีนโยบายให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็จะมีผลกระทบกับผู้ถือครอง

“ภาคเอกชนธุรกิจ ต้องการความชัดเจนต่อนโยบายในขณะนี้ว่าจะไปในทิศทางใด เพื่อปรับตัวทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย ด้วยหากกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ธุรกิจก็จะดำเนินการลงทุนแบบควบคุม” สิทธิชัย กล่าว

ต้นทุนวิ่งไม่หยุด แต่ไม่มีตลาด

พร้อมเสริมอีกว่า หากมองประโยชน์ด้านการวิจัยสารสกัดจากกัญชง หรือ กัญชา เพื่อใช้เป็นยาจะพบว่ามีคุณอนันต์ ด้วยในช่วงปี 2565-2566 มีผู้ผลิตลงทุนโรงงานสกัดฯ คิดเป็นมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท รวมกว่า 30 ราย แบ่งเป็น 5 รายใหญ่ 10 รายกลาง ส่วนที่เหลือเป็นรายเล็กและงานวิจัยในสถาบัน มหาวิทยาลัย ที่ให้ความสำคัญในด้านนี้

สิทธิชัย กล่าวอีกว่า ว่าต้นทุนผู้ประกอบการธุรกิจยังเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งค่าแรงพนักงานที่ยังต้องจ่ายต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องจักรยังต้องวิ่งไม่หยุด แต่ไม่สามารถวางแผนการตลาดไปต่อได้

ดังนั้นนโยบายกัญชาควรเร่งสร้างความชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด ด้วยหากให้กัญชาเป็นยาเสพติด หรือ เพื่อการแพทย์ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเดิมที่ลงทุนไปก่อนหน้า มีต้นทุนธุรกิจที่แตกต่างกับรายใหม่ ที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ด้วย

ขอความชัดเจน รมว.สาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวแทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย และ สมาคมกัญชงไทย เตรียมยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ เพื่อขอทราบแนวทางนโยบายต่อความชัดเจนบทบาทของการนำไปใช้กัญชง กัญชา ในประเทศไทย ก่อนนำไปหารือร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต่อไป  

ต้องรอบครอบใครได้/เสีย ประโยชน์

สิทธิชัย กล่าวว่า “ในมุมมองของบริษัท หากนโยบายกัญชง กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ส่งผลบวกต่อผู้เล่นรายเล็ก ได้มีโอกาสทางธุรกิจเข้ามาง่าย ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวในประเทศด้วย แต่หากกำหนดให้เป็นยาเสพติดกระทบธุรกิจรายเล็กอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ปลูกที่ได้ผลผลิตไม่ถึงระดับใช้เป็นยา (Pharmaceutical Grade) และจากสายป่านทางธุรกิจที่ไม่ยาวมากพอ ขณะที่กลุ่มผู้ปลูก หรือธุรกิจรายกลาง และ รายใหญ่ ที่มีการลงทุนไปแล้วหลักสิบล้านบาทขึ้นไป จะได้ประโยชน์ มากกว่า

ปัจจุบันมีธุรกิจโรงงานผลิตเครื่องสำอางกว่า 2,000 ราย ผลิตอาหารเสริมกว่า 1,000  ผลิตสมุนไพรราว 160 ราย และผู้ผลิตอาหารเสริมสัตว์ อีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงปี2566 นี้ ตลาดต่างประเทศ อาทิ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ที่เข้ามาทำการค้าหาพันธมิตรธุรกิจในไทย ต่างมีความเชื่อมั่นสารสกัด ซีบีดี ไอโซเลท (CBD Isolate)จากกัญชาของไทย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นสินค้าสำเร็จรูปประเภทต่างๆ แม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าก็ตาม ซึ่งในอนาคตหากนโยบายนี้มีความชัดเจน เชื่อว่าไทยจะสามารถแข่งขันได้ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ ด้านสมุนไพรในระดับโลก

จากก่อนหน้าราคาสารสกัดซีบีดีไอโซเลท ในตลาดโลก มีอัตราอยู่ที่ 500,000-700,000บาทต่อกิโลกรัม โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาราคาปรับลงมาอยู่ที่ 100,000-200,000 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่าในปลายปีนี้ ตลาดโลกจะมีการปรับราคาลดลงต่ำหว่าหนึ่งแสนบาทต่อต่อกิโลกรัม สอดคล้องกับหุ้นตลาด Nasdaq สหรัฐอเมริกา พบว่าธุรกิจผู้ปลูกกัญชารายใหญ่ ทุกบริษัทมีราคาต่ำกว่าไอพีโอ

“สะท้อนถึงความได้เปรียบทางธุรกิจนี้ในต่างประเทศ ที่มีต้นทุนการผลิตที่เลยจุดคุ้มทุนไปแล้ว และได้เปรียบการแข่งขันในตลาดโลกมากกว่าแล้วในเวลานี้”  สิทธิชัย กล่าว

JSP ปรับแผนตั้งรับเปลี่ยนแปลง

สำหรับบริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนักในขษณะนี้ ด้วยในช่วงต้นปี2566 ที่ผ่านมา ได้ปรับแผนการทำธุรกิจรับผลิตสินค้ากลุ่มสมุนไพรไทยประเภทอื่นๆ รวมถึงทำสินค้าสมุนไพรสำเร็จรูปร่วมกับคู่ค้าธุรกิจทดแทน เพื่อรองรับความต้องการในกลุ่มผู้ต้องการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ

และตลาดนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาไทยเป็นจำนวนมากในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการเจรจากับผู้ปลูกกัญชงกัญชา มากกว่า 100 ราย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปการทำธุรกิจร่วมกัน

 

 

 

 

TAGS: #JSP #เจเอสพี #กัญชง #กัญชา #กัญชาเสรี #ปลดลอคกัญชา