รพ.วิมุต ส่งแคมเปญใหญ่ The Power of Women เจาะตรงกลุ่มผู้หญิงไทย ยุคใหม่มีกำลังซื้อสูง รับเทรนด์ ‘SHEconomy’ เศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเหล่าตัวแม่
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่าจากข้อมูล The Economist Intelligence Unit องค์กรวิจัยในสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2573 กำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด อยู่ที่ราว 46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จากในปี 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0%
โดยสอดคล้อง เทรนด์ SHEconomy การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้หญิง กำลังมาแรง มีปัจจัยหนุนจาก 3 ปัจจัยด้วยกันคือ
1. ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย
2. บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
3. ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากสำนักทะเบียนกลางยังชี้ว่า สัดส่วนประชากรในไทยมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2565 มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 1.59 ล้านคน
นายแพทย์สมบูรณ์ กล่าวว่าภาพรวมผู้เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลวิมุตนในปี 2566 จนถึงปัจจุบันพบว่า มีสัดส่วนผู้ใช้บริการเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสูงถึงประมาณ 20% โดยในปี 2565 มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20% เช่นเดียวกันที่มีผู้ใช้บริการผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
โดยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การตรวจสุขภาพเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็น ศูนย์สูตินรีเวช เป็นอันดับ 2 และแผนกฉุกเฉิน เป็นอันดับ 3
จากแนวโน้เมดังกล่าว “โรงพยาบาลวิมุต มองเห็นโอกาสในตลาดบริการดูแลสุขภาพ ในกลุ่มผู้หญิงทุกช่วงวัยผ่านแคมเปญ “The Power of Women” ให้ผู้หญิงทุกคนได้ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและพัฒนาตนเองในทุกมิติ บนพื้นฐานสุขภาพที่ดี จากความชำนาญของทีมบุคลากรท่างการแพทย์โรงพยาบ่าลวิมุต และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย
ทั้งนี้ เพื่อให้การดูแลสุขภาพผู้หญิงแบบองค์รวม (Holistic Care) ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อาทิ การฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก, การดูแลความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ตลอดจนการมีบุตร
การให้คำปรึกษาสำหรับสตรีก่อนแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์ บริการฝากครรภ์และคลอดบุตร ทั้งการคลอดธรรมชาติและผ่าตัดคลอด บริการตรวจหาโรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) โดยการเจาะเลือดคัดกรอง (NIPT Test) บริการอัลตราซาวนด์ทั้งแบบ 2 มิติ และ 4 มิติ การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็ง
การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) ตลอดจนการดูแลรักษาโรคที่ผู้หญิงสูงวัยต้องเผชิญ เช่น ปัญหาในเรื่องฮอร์โมน โรคกระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องทางเดินปัสสาวะ แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพในรูปแบบใด ทีมแพทย์และพยาบาลของ รพ. วิมุต ก็พร้อมดูแลผู้หญิงทุกคนให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจได้ในทุก ๆ วัน”
ขณะที่หนึ่ง ในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงไทย คือ มะเร็ง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่า หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด จำนวน 38,559 ราย รองลงมาคือ มะเร็งปากมดลูก จำนวน 12,956 ราย
โดยโรคมะเร็งเต้านมนับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด เมื่อพบอาการผิดปกติมักอยู่ในระยะที่ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากเข้ารับการคัดกรองและตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากที่สุด
ส่วนมะเร็งอันดับสองที่พบในหญิงไทยอย่าง “มะเร็งปากมดลูก” ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัย 30 -55 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Human Papillomavirus หรือเอชพีวี (HPV) ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือตกขาวผิดปกติเรื้อรัง
ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เป็นวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุด
ด้าน แพทย์หญิงพรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต กล่าวถึงโรคมะเร็งในผู้หญิงว่า ในทุกๆปี ผู้หญิงจำนวนมากที่ตรวจพบและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทางนรีเวช ทั้งมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยที่สุด มะเร็งปากมดลูกที่พบมากรองลงมา มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก ศูนย์สูตินรีเวช
“โรงพยาบาลวิมุต เชื่อว่าวิธีป้องกันการเกิดโรคที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพดีในระยะยาว แต่ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ด้วย” แพทย์หญิงพรรณลดา กล่าว
โดยวางแผนการดูแลสุขภาพตาม 3 ช่วงวัยหลัก คือ 1.วัยเด็กก่อนมีประจำเดือน แนะนำให้กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย
นอกจากนี้ยังแนะนำให้รับวัคซีนที่เด็กไทยควรได้รับตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อHPV เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งในช่องปากและลำคอ ซึ่งฉีดได้ทั้งเด็กหญิงและชายตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
2. วัยเจริญพันธุ์ หรือวัยที่มีประจำเดือนแล้ว เมื่อถึงวันอันสมควรแนะนำให้ตรวจภายใน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรสังเกตความผิดปกติในร่างกาย หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
3. วัยหมดประจำเดือน วัยนี้ต้องตรวจสุขภาพทุกปี รวมถึงตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรสังเกตสัญญาณเตือนก่อนวัยทอง อาทิ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ หมดอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น เพื่อให้รู้เท่าทันตนเอง บอกเล่าให้คนใกล้ตัวเข้าใจ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน”
นอกจากโรคทางกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้หญิง กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน
โดยในปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทางองค์การอนามัยโลกชี้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมากกว่าเพศชาย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ตลอดจนอาการซึมเศร้าหลังคลอด และยังต้องเผชิญความคาดหวังจากสังคมและปัญหาในครอบครัวอีกด้วย
แพทย์หญิงเพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต เผยว่า “สุขภาพใจก็ไม่ต่างกับสุขภาพกายที่ควรเริ่มต้นดูแลตั้งแต่วัยเด็กจนโต โดยมีเทคนิค ‘4 ล’ ให้ผู้หญิงทุกคนนำไปปฏิบัติง่ายดังนี้ ล แรก
คือ เลิกคิดลบ คิดบวก พยายามมองด้านดี ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ช่วยให้เรามีสติในการจัดการอุปสรรคและปัญหาได้ ล สอง คือ เลิกเปรียบเทียบกับคนรอบตัว เพราะทุกคนมีชีวิตแตกต่างกัน ความสุขและความทุกข์ของแต่ละคนยอมแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงการมีสติในการใช้โซเชียลมีเดียที่อาจทำให้เรารู้สึกแย่กับตนเองโดยไม่รู้ตัว
ล สาม คือ เลือกเพื่อนและคนรอบข้างที่ดีที่พร้อมรับฟัง ปัญหาบางเรื่อง เพียงได้มีคนรับฟังและให้กำลังใจ ก็จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ ล สี่ คือ เลือกสร้างความสุขให้ตัวเอง ด้วยกิจกรรมที่ชอบเพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าและความเครียดในแต่ละวัน