HSBC เปิดผลสำรวจ ‘ไทย’ เบอร์ 3 อาเซียน ต่างชาติมีแผนขยายลงทุนมากสุด

HSBC เปิดผลสำรวจ  ‘ไทย’ เบอร์ 3 อาเซียน  ต่างชาติมีแผนขยายลงทุนมากสุด
เอชเอสบีซี เผยธุรกิจระหว่างประเทศเชื่อมั่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น ไทยติดอันดับประเทศที่ได้ต่างชาติต้องการขยายฐานการลงทุนสูงสุดของอาเซียน

รายงานวิจัยเอชเอสบีซี โกลบอล คอนเนกชันส์ ( HSBC Global Connections) ของธนาคารเอชเอสบีซี ที่มาจากการสำรวจธุรกิจระหว่างประเทศขนาดใหญ่จาก 9 เศรษฐกิจหลัก คือ จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง และตะวันออกกลาง 

โดยระบุองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศมองโอกาสเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชิงบวกมากยิ่งขึ้น คาดการณ์ว่ายอดขายในภูมิภาคจะเติบโตร้อยละ 23.2 ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับการสำรวจในปีก่อนหน้าที่คาดว่าจะโตร้อยละ 20.1 

อีกทั้งยังสูงกว่าการเติบโตของจีดีพีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 4 - 5 สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต่างชาติมีความเชื่อมั่นในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น

ไทยเป็นตลาดสำคัญที่ธุรกิจระหว่างประเทศต้องการลงทุน โดยร้อยละ 37 ของกลุ่มตัวอย่างมีการดำเนินกิจการในประเทศไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ จากบริษัทต่างชาติจาก 9 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ  พบว่าบริษัทจากประเทศเยอรมันมีการดำเนินกิจการในประเทศไทยสูงสุดถึงร้อยละ 45 

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังติด 3 อันดับแรกของประเทศในอาเซียนที่บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศอยู่แล้วมีแผนจะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า

โดยมีบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในประเทศอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน ถึงร้อยละ 24 ต้องการจะขยายธุรกิจเพิ่ม  รองมาจากสิงคโปร์ (ร้อยละ 36) และมาเลเซีย (ร้อยละ 27) ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งและสอง

บริษัทต่างชาติที่ดำเนินกิจการอยู่ในอาเซียนและมีความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจเพิ่มในภูมิภาค

 

ลงทุนในไทยอยู่แล้ว

มีแผนขยายธุรกิจเพิ่มเติม

บรูไน

14%

9%

กัมพูชา

18%

12%

อินโดนีเซีย

32%

22%

ลาว

15%

10%

มาเลเซีย

36%

27%

เมียนมา

17%

11%

ฟิลิปปินส์

28%

19%

สิงคโปร์

46%

36%

ประเทศไทย

37%

24%

เวียดนาม

27%

14%

ผลสำรวจของเอชเอสบีซี โกลบอล คอนเนกชันส์ ยังระบุด้วยว่า บริษัทจากภูมิภาคตะวันออกกลางและประเทศใกล้เคียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการลงทุนในตลาดอาเซียนชัดเจนกว่าและมีแผนจะขยายธุรกิจเข้ามาในภูมิภาคในสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา

 กฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า "ผลสำรวจที่ได้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าของเรา อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าบริษัททั่วโลกมีความเชื่อมั่นและต้องการขยายการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น" 

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น บริษัทจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลางจึงมีข้อได้เปรียบในการลงทุนในอาเซียนไปโดยปริยายในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นความเชื่อมโยงทางการค้ากับประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ทั่วโลกด้วย ซึ่งธนาคารเอชเอสบีซีรู้สึกตื่นเต้นกับการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อยไปกว่าลูกค้า และมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวเชื่อมให้ธุรกิจระหว่างประเทศในเครือข่ายของเราทั่วโลกเข้าถึงโอกาสในภูมิภาคนี้"

 อาเซียน: แผนการขยายธุรกิจขององค์กรธุรกิจข้ามชาติ

การสำรวจครั้งนี้ยังเผยให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนในด้านความกระตือรือร้นในการควบรวมกิจการในอาเซียน ระหว่างผู้ตอบแบบสอบถามจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับผู้ตอบแบบสอบถามจากภูมิภาคอื่นๆ ด้วย โดยผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศจีน มีแนวโน้มขยายธุรกิจด้วยวิธีควบรวมกิจการในอาเซียนภายในปี 2567 อย่างมีนัยยะสำคัญ (ร้อยละ 40) ซึ่งมากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามจากเยอรมนี (ร้อยละ 20) ถึงสองเท่า

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกภูมิภาคคาดหวังเช่นเดียวกันว่าจะมีกิจกรรมทางธุรกิจเพิ่มขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า และความแตกต่างระหว่างผู้ตอบแบบสอบถามจากเอเชียและผู้ตอบแบบสอบถามจากทวีปอื่นๆ จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

 อาเซียน: ปัจจัยดึงดูดธุรกิจระหว่างประเทศ

การสำรวจชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจระหว่างประเทศยังคงมองอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน มากกว่าที่จะเป็นตลาดผู้บริโภค ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นจาก 1,250เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2543 เป็น 5,800 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

 ประเทศไทย: โอกาสและปัจจัยดึงดูดการค้าการลงทุน

ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในอาเซียน และยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกจำนวนมาก ธุรกิจต่างชาติที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้มองว่า แรงงานที่มีทักษะของไทย คือ องค์ประกอบที่ดึงดูดที่สุด โดยร้อยละ 28 ระบุว่า แรงงานที่มีทักษะทำให้การขยายธุรกิจในไทยมีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ พบว่าอัตราค่าแรงที่แข่งขันได้ ซึ่งเคยเป็นปัจจัยสำคัญในปี 2565 ได้ลดลงจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 25 ในการสำรวจปี 2566

 เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตของไทย ถือเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจที่สุดอีกอย่างหนึ่ง โดยร้อยละ 27 ของบริษัทที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศไทยระบุว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ และบริษัทอีกจำนวนเท่ากัน คือ ร้อยละ 27  มองว่าประชากรรุ่นใหม่และลักษณะทางประชากรศาสตร์ของประเทศไทยเป็นปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนในประเทศ

 ร้อยละ 35 ของธุรกิจที่เข้าร่วมการสำรวจคาดหวังว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในทศวรรษหน้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ร้อยละ 38) รวมถึงการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล (ร้อยละ 35) ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 4 ใน 10 (ร้อยละ 41) กล่าวว่าพวกเขายังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะมาช่วยพลิกโฉมองค์กรให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ

 ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานของยุโรป เห็นได้จากแนวคิดของธุรกิจระหว่างประเทศที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับตรวจสอบและวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานด้วย โดยร้อยละ 44 ระบุว่า พวกเขาประเมินความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของซัพพลายเออร์ และ 3 ใน 4 ของบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย นำผลกำไรที่ได้รับอย่างน้อยร้อยละ 5 ไปใช้จ่ายในโครงการที่เกี่ยวกับความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม พบว่าเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 29) ของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย มีความกังวลว่ากฎระเบียบและข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับการลดคาร์บอน อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา นอกจากนี้ ร้อยละ 28 ยังเชื่อว่าประเทศไทยยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจ้างพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทถึงร้อยละ 36 ที่ระบุถึงอุปสรรคข้อนี้

 ปัญหาที่บริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทยกล่าวถึงอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยร้อยละ 31 ระบุว่าภาษาท้องถิ่นและแนวทางในการทำธุรกิจถือเป็นความท้าท้ายที่สำคัญ

 กฤษฎา กล่าวว่า "ไทยเป็นฐานการผลิตที่ดีเยี่ยมด้วยห่วงโซ่อุปทานทันสมัยและมีแรงงานทักษะสูงดึงดูดให้บริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุน" 

 

จุดแข็งของเอชเอสบีซี คือ การเป็นธนาคารระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อโอกาสการลงทุนให้กับลูกค้าทั่วโลก ทั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่าเครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมทั่วโลก ความเชี่ยวชาญในฐานะผู้นำด้านบริการทางการเงินข้ามพรมแดน รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจในเมืองไทยมากว่า 134 ปีในฐานะธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศและธนาคารระหว่างประเทศที่ดีที่สุดของไทย

 

จะทำให้เอชเอสบีซี เป็นพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบที่สนับสนุนบริษัทต่างชาติในการลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับธุรกิจไทยและลูกค้าผู้มีสินทรัพย์สูงของไทยให้สามารถเติบโตในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้

 

TAGS: #เอชเอสบีซี #HSBC #ลงทุน