ยื่นนายกฯเร่งตั้งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ รื้อค่า AP กดค่าไฟ ขู่เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่

ยื่นนายกฯเร่งตั้งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ รื้อค่า AP กดค่าไฟ ขู่เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่
กลุ่มอดีตผู้บริหารกฟผ.-ภาคประชาชนออกแถลงการณ์ 4 ประเด็นร้อนพลังงาน เร่งตั้ง ‘เทพรัตน์’ เป็นผู้ว่าฯคนใหม่ หากรัฐบาลเมินเฉย ทางสร.กฟผ.อาจเคลื่อนไหวใหญ่

นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.(สร.กฟผ.) พร้อมด้วยนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์   และ ผู้แทนกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และภาคประชาชน  ได้เปิดแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้อง การแต่งตั้งผู้ว่าการกฟผ.คนที่ 16 และการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ประชาชนเดือดร้อน

นายพิเชษฐ์   ชูชื่น อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ และบางปะกง กฟผ. กล่าวว่า   เตรียมยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพลังงาน ขอให้เร่งพิจารณาเรื่องสำคัญ 4 ประเด็น คือ  1. การแต่งตั้งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่(คนที่16)   ที่ดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรมผ่านคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการกฟผ. คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ที่ได้เสนอไปยังรมว.พลังงานขณะนั้นคือนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ แต่ต่อมามีการยุบสภาไปเสียก่อนโดยรัฐบาลรักษาการ มีการเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)แล้ว 2 ครั้ง แต่ทางกกต.ยืนยันว่าต้องเสนอรัฐบาลใหม่เท่านั้น  โดยเรื่องนี้จึงอยู่ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่จะสามารถนำเสนอครม.ใหม่ได้เพราะเป็นการสรรหามาโดยชอบธรรมแล้ว

อย่างไรก็ตามหากมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ ก็จะไม่เป็นธรรมและส่งผลเสียหายต่อผู้ถูกคัดเลือกและเป็นข้อสงสัยต่อสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ประกอบกับการจะเปลี่ยนแปลงให้มีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่นั้น จะส่งผลต่อคำครหานินทาจากสังคมได้ว่ามีใบสั่งจากทุนใหญ่

ด้านพลังงานมากดดันรัฐบาลตามข่าวที่ทราบกันอยู่แล้ว พวกเราจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านรัฐมนตรี ฯ พิจารณานำเสนอผลกการคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 คือนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เข้า ครม. เพื่อเห็นชอบอนุมัติแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป

 2. ขอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาการยกเลิกค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AP ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่ปัจจุบันแม้จะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ต้องจ่าย ทำให้ภาระดังกล่าวไปตกอยู่กับประชาชนที่จะต้องรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น  เพราะหากยกเลิกค่า AP จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

3. รัฐบาลควรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ไม่ให้ต่ำกว่า 51% จากปัจจุบันมีสัดส่วนเหลืออยู่กว่า 30 % เท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 5 ว่าด้วยเรื่องหน้าที่ของรัฐ มาตรา 56  กิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อ การดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% มิได้

4. ขอให้พิจารณาทบทวนการกำหนดให้แยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากกฟผ.ที่มีบทบาทหน้าที่ มีอำนาจควบคุมด้านความมั่นคงและความเป็นธรรมของระบบไฟฟ้าของประเทศซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายหากแยกออกไปแล้วเอื้อต่อเอกชนเพราะกฟผ.ไม่ได้เป็นกิจการที่มุ่งแสวงหาผลกำไร

ด้านนายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.(สร.กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ว่างเว้นจากการมีผู้ว่าฯมา 4 เดือนแล้ว ไม่เคยมีในประวัตศาสตร์จึงมีการมองได้ว่านี่อาจจะเป็นการแทรกแซงจากกลุ่มทุนหรือไม่ ทำให้กฟผ.เองขาดผู้บริหารรวมถึงระดับผู้อำนวยการฝ่าย 10 กว่าท่านก็ได้เกษียณ รวมไปถึงระดับรองผู้ว่าการอีก 2 ท่านทำให้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งจึงกลายเป็นเป็ดง่อยและหลุมดำของการบริหารงานจึงต้องการให้มีการนำเสนอครม.โดยเร็ว ซึ่งประเด็นนี้ทางสร.กฟผ.ปัจจุบันกำลังติดตามอยู่หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องก็พร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่

 ส่วนประเด็นค่าไฟฟ้าแพงนั้นในความเป็นจริงต้นกำเนิดเกิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไปโดยขาดการสร้างความสมสมดุลย์ด้าน Demand และ Supply จะเห็นจากปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง ซ้ำยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมและอื่นๆ ตลอดจนปล่อยนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไป  โดยอ้างปัญหาโลกร้อนและไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่าง ๆ โดยไม่ดูข้อจำกัดต่าง ๆ ภายในประเทศเหล่านี้ระยะต่อไปจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตามการลดค่าไฟฟ้าลงมาล่าสุดเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ  ขณะที่ปัญหาไม่ถูกแก้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือการแก้ไขสัญญาที่รัฐเสียเปรีบกับเอกชนใหม่ เช่นค่าความพร้อมจ่าย เป็นแก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุลย์ Demand และ Supply อย่างสมเหตุสมผล เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และ เปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้า  เพื่อให้เกิดการแข่งขันจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

นอกจากนี้กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ จาก บริษัท ปตท.ฯ ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ควรให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอและจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี)เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  ประชาชนได้ร้องเรียนถึงผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่แพงจนเดือดร้อน และแม้รัฐบาลใหม่ได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าลงในเดือนก.ย.-ธ.ค.66 ถือเป็นเรื่องดีแต่ต้องแก้ไขให้ยั่งยืนที่จะต้องปรับโครงสร้างพลังงานอื่น ๆ เช่นค่า AP การเปิดเสรีนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟ ฯลฯ

TAGS: #ผู้ว่ากฟผ. #ค่าพร้อมจ่าย #ค่าเอฟที