กองทุนน้ำมันฯอุ้มดีเซล-LPG รับสภาพติดลบแสนล้านสิ้นปี

กองทุนน้ำมันฯอุ้มดีเซล-LPG รับสภาพติดลบแสนล้านสิ้นปี
สกนช.แจงสถานะกองทุนน้ำมันสิ้นปีหนี้เฉียดแสนล้าน ตรึงดีเซล 30 บาท จ่ายเดือนละ1.2 หมื่นล้าน  เล็งหารือคลังเคาะกรอบวงเงินกู้ใหม่รองรับปี’67

นายวิศักดิ์  วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)  เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานปี 2567  ยังคงมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ยังผันผวนต่อเนื่อง โดยเฉพาะประมาณการราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกจะอยู่ที่ 115 -130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จะยังคงเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้เหมาะสมโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม(LPG ) และคาดว่าจะสามารถนำวงเงินกู้ยืมที่ยังเหลืออีก 50,333 ล้านบาท มาช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศได้ตามวัตถุประสงค์ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้

ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯมีสถานะติดลบอยู่ฯ 65,732 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน ติดลบ 20,806 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 44,926 ล้านบาท เป็นผลจากนโยบายตรึงราคาดีเซล 30 บาท และราคาLPG ที่ 423 บาท/ถัง(15ก.ก.)  ซึ่งมีภาระจ่ายชดเชยราคาดีเซลอยู่เดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท  โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 ฐานะกองทุนน้ำมันฯจะติดลบที่ระดับ 9 หมื่นกว่าล้านบาท หรือใกล้เคียงกับระดับ 1 แสนล้านบาท  ซึ่งยังเป็นภาระหนี้ที่ติดลบน้อยกว่าปี 2565 ที่เคยทำสถิติสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามขณะนี้ สกนช.อยู่ระหว่างจัดทำแผนบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯเพื่อกำหนดแนวทางการดูแลราคาดีเซลในปี 2567  โดยจัดทำแผน scenario  รองรับไว้หลังมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้จะหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงแนวนโยบายการบริหารจัดการงบประมาณที่เหมาะสมด้วย ซึ่งตามกฎหมายก็มีเครื่องมือที่ สกนช.จะนำมาให้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯได้ ได้แก่ รายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ, การกู้เงิน ,งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ, เงินบริจาค เช่น ในปี 2565 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้บริจาคเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อมาช่วยสนับสนุนกองทุนน้ำมันฯ รวมถึง ยังมีกลไกภาษีสรรพสามิต จากกระทรวงการคลัง ที่เดิมเคยลดจัดเก็บภาษีลง 5.99 บาทต่อลิตร ที่ปัจจุบัน ยังลดการจัดเก็บไม่หมดเหลืออยู่ที่ 3.67 บาทต่อลิตร

สำหรับแหล่งเงินสภาพคล่องที่จะนำมาใช้บริหารกองทุนน้ำมันฯที่ผ่านมาได้เบินเงินกู้มาแล้ว 55,000 ล้าน และยังมีวงเงินเหลือเงินประมาณ  50,300 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรไปจนถึง 31 ธ.ค.นี้  ส่วนปีหน้าจะใช้แนวทางการกู้เงินอย่างไร ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง

 

TAGS: #กองทุนน้ำมันเชื้อพลิง #ตรึงดีเซล #LPG