กนอ.ปลื้อมยอดขาย/เช่าที่ดินนิคมฯทะลุเป้าพุ่ง 182 %

กนอ.ปลื้อมยอดขาย/เช่าที่ดินนิคมฯทะลุเป้าพุ่ง 182 %
กนอ.กางแผนดึงลงทุนตรงจากต่างประเทศเรียกเชื่อมั่น ตั้งเป้าปี'67ขายที่ดินนิคมฯ 3 พันไร่ ชี้อีอีซียังเป็นจุดหมายต่างชาติสนใจลงทุน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2566 ว่า ปีงบประมาณ 2566 (กันยายน 2565 – ตุลาคม 2566) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 182 % เกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นพื้นที่ขาย/เช่าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) 4,753 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 939 ไร่

ปัจจุบันกนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 190,150 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 42,034 ไร่ และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน148,117 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่าประมาณ 127,719 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว ประมาณ 101,975 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 25,744 ไร่

ทั้งนี้มีมูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 10.88 ล้านล้านบาท  มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,828 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น ประมาณ 994,696 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 6 อันดับแรก ได้แก่ 1.กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 57.33 % 2.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 11.82 %

3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 8.66 % 4.อุตสาหกรรมยางเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 7.61 % 5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 7.52 % และ6.อุตสาหกรรมพลาสติก 7.06 %

อย่างไรก็ตามนักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองแชมป์สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 30 % รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 12 % นักลงทุนจากสิงคโปร์ 8 % นักลงทุนจากอเมริกา 6 % นักลงทุนจากไต้หวัน 5 % และนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ 39 %

สำหรับภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั้งนิคอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 68 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 53 แห่ง

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการสำคัญ ได้แก่  1.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ล่าสุดความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 65.09 % และ 2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค บนพื้นที่โครงการ 1,384 ไร่ ตั้งเป้าระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 36 เดือน (ตั้งแต่ 30 ก.ย. 64 – 14 ก.ย. 67) ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 70.02 % คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park)

ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำ ว่า กนอ. ยังดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ โดยจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯ รวมถึงรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯได้

“ขณะนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี ล่าสุดกลุ่มนักลงทุนจากไต้หวันประมาณ 20 กว่าราย สนใจจะตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากจีนที่ให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะเดียวกันมีแผนดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งเร็วๆนี้จะเดินทางไปเยอรมันเพื่อพบปะนักลงทุนเนื่องจากช่วงระยะหลังกลุ่มประเทศยุโรปสนใจขยายการลงทุนในเอเชียมากขึ้น”

นายวีริศ กล่าวว่า ภาพรวมยอดขาย/เช่าที่ที่เพิ่มขึ้น 5,693 ไร่ จากเป้าที่ตั้งไว้ 2,500 ไร่ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง โดยปัจจัยหลักเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบการและภาคเอกชนในการร่วมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยในปีงบประมาณ 2567 กนอ.ได้ประมาณการณ์ยอดขาย/เช่าที่ดิน ไว้ที่ 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ในอีอีซี 2,700 ไร่ และนอกอีอีซี 300 ไร่

 

TAGS: #กนอ. #อีอีซี #ยานยนต์