ททท. คงเป้าปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้าไทย 25-28 ล้านคน มอง2 ความเสี่ยง ‘สงครามอิสราเอล-กราดยิงพารากอน’ กระทบช่วงสั้น นักเดินทางหวั่นสงครามลังเลท่องเที่ยว จีนช็อคยกเลิกไฟลต์
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย (ณ ต้นเดือนตุลาคม ปี 2566) แตะ 20 ล้านคน คาดการณ์ว่าเป้าหมายที่วางไว้ 25-28 ล้านคน มีความเป็นไปได้
เนื่องจาก เดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2566 แนวโน้มนักท่องเที่ยวทั้งกลุ่มตลาดระยะไกล หรือลองฮอลล์ (จากยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา) ที่ยังมีบุ๊กกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รวมไปถึงตลาดระยะใกล้ หรือ ช็อตฮอลล์ ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของไทยก็เติบโต ทั้งเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย ทำให้เป้าหมายที่วางไว้ 25 ล้านคน น่าจะเป็นไปได้
2 เสี่ยงท่องเที่ยวไทย ปลายปี 66
อย่างไรก็ดี ช่วงปลายปี66 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันภาคการท่องเที่ยว ทว่าไทย พบความเสี่ยง 2 ประการ ทั้ง เหตุกราดยิงสยามพารากอน ต่อเนื่องด้วยความกังวลการเดินทางของนักท่องเที่ยว จากเหตุปะทะสงครามอิสราเอล และ กลุ่มฮามาส
สำหรับ เหตุยิงสยามพารากอน คาดกระทบไทยในระยะสั้น โดยนักท่องเที่ยวจีนมีความกังวล ในกลุ่มนักเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง จะมีความตกใจ หรือ ช็อค จากเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนจากตัวเลขการจองไฟลท์บินจากจีนมาไทยลดลง ส่วนกลุ่มประชุมและสัมมนายังปกติ ไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด
โดยประเมินว่าเหตุการณ์จะค่อย ๆ คลี่คลายลง ผ่าน 3 มาตรการ คือ
1.การยกระดับความปลอดภัย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.มาตรการเยียวยา จากภาคเอกชนและรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ
3.มาตรการกู้ภาพลักษณ์ และการทำการตลาด โดยสะท้อนว่าประเทศไทยแคร์นักท่องเที่ยว และชูว่าไทยเป็นแหล่งฮีลลิ่งจิตใจ ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวแนวใหม่ และให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย
ฐาปนีย์ กล่าวต่อ ส่วนสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่มีความรุนแรงนั้น ส่งผลด้านความรู้สึกของนักท่องเที่ยว เกิดความลังเลในการเดินทาง เพื่อรอดูสถานการณ์ แต่ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย
ขณะที่ นักท่องเที่ยวอิสราเอลปัจจุบันเดินทางเข้าไทยประมาณ 170,000 - 180,000 คน ประเมินว่าสิ้นปี 2566 จะถึง 200,000 คน เนื่องจาก เที่ยวบินระหว่างกรุงเทลอาวีฟ ไปภูเก็ตและกรุงเทพ ยังไม่มีการยกเลิก
โดยนักท่องอิสราเอลส่วนใหญ่เดินทางเป็นครอบครัว มียอดค่าใช้จ่ายตลอดทริปต่อหัวสูง 70,000-78,000 บาท/คน/ทริป มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปที่มียอดใช้จ่าย 40,000-48,000 บาท/คน/ทริป หรือมากกว่า 10-15%