หวั่นเหตุสงครามลุกลามตะวันออกกลาง กระทบคู่ค้าส่งออก

หวั่นเหตุสงครามลุกลามตะวันออกกลาง กระทบคู่ค้าส่งออก
สนค.เปิดผลวิเคราะห์ปมขัดแย้งอิสราเอลกระทบเศรษฐกิจไทย ห่วงขยายวงกว้างระดับภูมิภาค เสี่ยงส่งออกไทย ดันราคาน้ำมันพุ่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหรือ สนค.  เปิดเผยว่า สนค. ได้ประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล- ปาเลสไตน์ ต่อเศรษฐกิจการค้าของไทยว่า จากการประเมินผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย กรณีที่สถานการณ์การสู้รบที่อยู่ในพื้นที่จำกัด (บริเวณฉนวนกาซา) ยังไม่มีการปิดประเทศ หรือปิดกั้นระบบการขนส่งทั้งหมด น่าจะยังไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ขัดแย้ง (อิสราเอลและปาเลสไตน์) หรือหากกรณีที่ไม่สามารถส่งออกไปได้ ก็จะไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกรวมของไทยมากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่คู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณการค้าต่างประเทศของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้การค้าระหว่างไทยกับอิสราเอล (ปี 2565)มีมูลค่า 1,401.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 10.0) หรือ 49,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.2 ของการค้ารวมของไทยเท่านั้นการส่งออกของไทยไปอิสราเอล มีมูลค่า 850.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 2.9) หรือ 29,728 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของการส่งออกของรวมของไทย โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป  อัญมณีและเครื่องประดับ  ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ  ข้าว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  ผลิตภัณฑ์ยาง  เม็ดพลาสติก  ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น

ส่วนการนำเข้าของไทยจากอิสราเอล อิสราเอลเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 45 ของไทย     มีมูลค่า 551.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 22.9) หรือ 19,455 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.2 ของการนำเข้ารวมของไทย โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี  ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์  เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ  เคมีภัณฑ์  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยุทธปัจจัย  เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์  แผงวงจรไฟฟ้า  ผัก/ผลไม้และของปรุงแต่ง  เป็นต้น

ด้านการค้าระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ (ปี 2565) มีมูลค่า 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 113.3) หรือ 134.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.001 ของการค้ารวมของไทย โดยการส่งออกของไทยไปปาเลสไตน์ มีมูลค่า 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 178.3 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 113.3) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.002 ของการส่งออกรวมของไทย โดยมีสินค้าส่งออก อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป  กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ  และเครื่องดื่ม เป็นต้น

ส่วนการนำเข้าของไทยจากปาเลสไตน์มีมูลค่านำเข้าน้อยมากเพียง 1,316 เหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 408.1) หรือ 44,157 บาท โดยมีสินค้านำเข้า อาทิ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์  เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ  และนาฬิกาและส่วนประกอบ

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเส้นทางที่มีสงคราม  เช่น ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและค่าประกันภัยในเส้นทางที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอาจปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความล่าช้าในการขนส่ง  โดยต้องติดตามสถานการณ์ท่าเรือนำเข้าที่สำคัญของอิสราเอลอย่างท่าเรือ Haifa ท่าเรือ Ashdod หากเกิดกรณีที่มีการยกระดับความขัดแย้งขึ้น เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศต่อไป

สำหรับผลกระทบทางอ้อมส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก มีความผันผวนไปในทิศทางสูงขึ้น โดยหลังเกิดเหตุการณ์สู้รบส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 ปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลว่าสถานการณ์ความไม่สงบอาจกระตุ้นให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลาง

 ทั้งนี้ หากความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้างมากขึ้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก (พื้นที่สงครามมีการผลิตน้ำมันดิบเพียง 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน) และไม่ได้กระทบต่อการขนส่งน้ำมันที่คลองคลองสุเอซมากนัก

อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง  มีโอกาสที่จะเปราะบางมากขึ้น จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วพันธมิตรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอาจมีโอกาสลุกลามเกิดความไม่สงบภายในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย - ตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.6 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของการส่งออกรวม (ขยายตัวร้อยละ 23.5) และการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของการนำเข้ารวม (ขยายตัวร้อยละ 53.5)ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเป้าหมายการส่งออกของไทยชดเชยตลาดหลัก   ที่ชะลอตัวในปีนี้ และเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานสำคัญที่สุดของไทย

ดังนั้นหากสงครามระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ลุกลามสู่ความขัดแย้งในระดับภูมิภาคจะส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบ ชะลอลงตามความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่การนำเข้าพลังงานอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการด้านการขนส่งและอุปทานน้ำมันที่ลดลงในภูมิภาค

นอกจากนี้ หากสถานการณ์ลุกลามจนเกิดภาวะ shock ขึ้นในภูมิภาค เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 – 2556 เหตุการณ์ “Arab Spring” ที่เกิดจากการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง และได้ลุกลามขยายวงกว้างสร้างความวุ่นวาย  ทางการเมืองทั้งในอียิปต์ ลิเบีย เยเมน และบาห์เรน ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกให้พุ่งขึ้นเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการค้ากับตะวันออกกลาง และทำให้การส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าวขยายตัวชะลอลง

ขณะที่กรณีที่สถานการณ์ยังอยู่ในวงจำกัด ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมัน เพราะไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันจากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ และมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากหลากหลายแหล่ง แต่หากสถานการณ์ขยายขอบเขตสู่ระดับภูมิภาคจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางคือแหล่งนำเข้าสินค้าพลังงาน (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ) ที่สำคัญของไทย โดยไทยนำเข้าสินค้าพลังงานจากตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.3 ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมดของไทย

สำหรับผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมายังไทยพบว่านักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง เนื่องจากการประกาศภาวะสงครามทำให้ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ความตื่นตระหนกสร้างความกลัวทำให้นักท่องเที่ยวเก็บเงินเพื่อใช้สำหรับสิ่งจำเป็นรักษาชีวิตมากกว่าที่จะเดินทางท่องเที่ยว อาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่มาเที่ยวไทย ประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี  

อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดและการใช้จ่ายต่อหัวไม่ได้สูงมาก การลดลงของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจึงไม่น่าจะกระทบกับภาพรวมการท่องเที่ยวไทยมากนัก

ด้านผลกระทบต่อการลงทุนกับอิสราเอล นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอิสราเอลจำนวนน้อยมาก แม้ว่าอิสราเอลจะเปิดกว้างรับนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% (ยกเว้นด้านการทหารและความมั่นคง) โดยสาขาที่รัฐบาลอิสราเอลสนับสนุนเป็นพิเศษ ได้แก่ เคมีอินทรีย์ เครื่องมือแพทย์ พลังงานชีวภาพ โทรคมนาคม และ ICT ทั้งนี้ ปัญหาที่นักลงทุนไทยและต่างชาติกังวล คือ เรื่องของความปลอดภัยจากภาวะสงคราม และต้นทุนการลงทุนที่สูง ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค  โดยไม่มีการลงทุนจากอิสราเอลในไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามทางออกทางการทูตมีความจำเป็นเร่งด่วนต่อสถานการณ์นี้ ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันไกล่เกลี่ย และกำหนดเส้นทางสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและสันติ เพื่อที่จะลดระดับความรุนแรงของวิกฤตและแสวงหาสันติภาพร่วมกันของประชาคมโลก บทเรียนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงที่วิกฤตจะยืดเยื้อยาวนาน จากรากฐานของปัญหาเกิดจากข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตที่ดินและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่มีร่วมกันทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน    เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และความขัดแย้งได้บานปลายไปสู่การเผชิญหน้าทางทหาร  อย่างเต็มรูปแบบ จะก่อให้เกิดผลกระทบกระจายวงกว้างไปทั่วโลก

 

 

TAGS: #สงครามอิสราเอล #ตะวันออกกลาง #ส่งออก