'มาม่า' ลงทุนใหญ่รอบ20ปี จัด2 พันล.สร้างโรงงานอัจฉริยะ หันบุกตลาดส่งออก ได้ราคาขายสูงกว่า

'มาม่า' ลงทุนใหญ่รอบ20ปี จัด2 พันล.สร้างโรงงานอัจฉริยะ หันบุกตลาดส่งออก ได้ราคาขายสูงกว่า
ไทยเพรสซิเดนซ์ ฟู้ด แผนใหญ่รับอนาคต10 ปีหน้า เพิ่มกำลังผลิตมาม่าในโรงงานแห่งใหม่ หาโอกาสช่องขายในต่างประเทศหวนกลับจีน-เวียดนาม หลังตลาดในประเทศ กว่า2 หมื่นล. โตแผ่ว 

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนซ์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยว่าบริษัทวางแผนลงทุนครั้งใหญ่ในรอบกว่า 20 ปี เพื่อขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่ม รองรับความต้องการตลาดการบริโภคสินค้าในอีก 10 ปีข้างหน้า

โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ภายใต้แนวคิด สมาร์ท แมนูแฟคตอรี (Smart Manufactory)พร้อมนำเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าตลอดทั้งสายการผลิต

รวมถึงการใช้เครื่องจักรใหม่ ที่จะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้มากขึ้น จาก 450 ก้อนต่อนาที เป็น 600 ก้อนต่อนาที เป็นต้น

โดยอยู่ระหว่างเตรียมหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ในทำเลศักยภาพทั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ตลอดจนในทำเลอยู่ติดลุ่มแม่น้ำโขง หรือ ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มอี (CLMV )

จาก ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตสินค้าตรามาม่า ทั้งสิ้น 8 แห่ง แบ่งเป็นในไทย 5 แห่ง โดย 3 แห่ง จะเป็นโรงงานผลิตเส้นบะหมี่เหลือง ได้แก่

  • อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 1 แห่ง มีกำลังการผลิต 261.53 ตันต่อวัน
  • จังหวัดลำพูน 1 แห่ง กำลังการผลิต 136.08 ตันต่อวัน
  • จังหวัดระยอง 1 แห่ง กำลังการผลิต 94.01 ตันต่อวัน

ส่วนโรงงานผลิตเส้นขาว มี2 แห่ง

  • จังหวัดราชบุรี มีกำลังการผลิตรวม 60.32 ตันต่อวัน

โดยมีกำลังการผลิตแยกตามประเภทบรรจุผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น

  • บะหมี่ประเภทซองอยู่ที่ 964,320 หีบต่อเดือน
  • บะหมี่ประเภทถ้วยอยู่ที่ 1,159,498 หีบต่อเดือน
  • ผลิตภัณฑ์จากข้าวอยู่ที่ 193,125 หีบต่อเดือน

ขณะที่สาย(ไลน์) ตลอดการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบสิ้นสุดกระบวนการบรรจุสินค้า จะมีความยาวราว 90 เมตร และมีความเร็วการผลิตทั้ง2 บรรจุภัณฑ์ ดังนี้

  • แบบซองความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 450 ซองต่อนาที
  • แบบถ้วยสูงสุดอยู่ที่ 300 ถ้วยต่อนาที 

สำหรับโรงงานผลิตสินค้าตรามาม่า ในต่างประเทศ มี 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมา, กัมพูชา บังคลาเทศ และฮังการี มีกำลังการผลิตรวม 16,044 ตันต่อปี

พันธ์ กล่าวว่า “หากโรงงานแห่งใหม่แล้วเสร็จ คาดจะเพิ่มกำลังผลิตสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 30% จากปัจจุบันโรงงานในจังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตที่สามารถเพิ่มเครื่องจักรได้ 1 เครื่อง นอกนั้นใช้เต็มเต็มศักยภาพไปแล้ว ทำให้บริษัทต้องวางแผนเพื่อรองรับการเติบโตตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในอนาคต จากปัจจุบันตลาดรวมบะหมี่ฯ มีมูลค่าราวสองหมื่นล้านบาทโ ตปีละ 4-5% จากเดิมตลาดเคยเติบโตไม่ต่ำกว่าสองหลัก”

นอกจากนี้ บริษัท ยังเตรียมปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ให้ทันสมัย โดยจะย้ายฐานการผลิตโรงงานเมียนมาเดิมที่ตั้งอยู่ในกรุงย่างกุ้ง ไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ด้วยเช่นกัน

พร้อมวางแผนศึกษาเพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ ในประเทศเคนยา ด้วยเป็นหนึ่งในตลาดทวีปแอฟริกา ที่มีความน่าสนใจ จากโอกาสการเข้าทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในประเทศดังกล่าว

ขยายธุรกิจ ไปโตนอกบ้าน

พันธ์ กล่าวต่อว่ายุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ตรามาม่า จากนี้ไปยังวางแผนขยายการเติบโตต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ทั้งการเข้าไปยังตลาดเดิมด้วยสินค้าใหม่ และการเข้าไปยังตลาดใหม่ด้วยสินค้าเดิมที่มีอยู่ เพื่อรองรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรุปในประเทศที่เริ่มชะลอการเติบโตอยู่ที่หลักเดียวในปัจจุบัน   

โดยบริษัทฯ วางเป้าขยายสัดส่วนยอดขายตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 40-50% จากเดิมมีสัดส่วนประมาณ 30% เทียบกับพอร์ตยอดขายสินค้าทั้งหมด

“บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์มาม่าใน 68 ประเทศทั่วโลก ด้วย ตลาดต่างประเทศมีขนาดใหญ่กว่าในประเทศ ซึ่งมีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของมาม่าในต่างประเทศอยู่ที่ 50 บาทต่อซอง ซึ่งสูงกว่าไทย” พันธ์ กล่าว

หวนทำตลาดตลาด จีน-เวียดนาม

โดย บริษัทมีแผนนำสินค้ากลับเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนอีกครั้ง จากก่อนหน้าได้เข้าไปตลาดจีนเมื่อราว 20 ปีก่อน ทั้งในเมืองคุนหมิง และ ชิงเต่า และได้หยุดไปในปี 2543 จากภาวะการแข่งขันของตลาดในช่วงนั้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมองว่าเป็นโอกาสใหม่ของสินค้าภายใต้แบรนด์ไทย จากความนิยมของชาวจีนที่มีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทยในตำแหน่งระดับพรีเมียม

ปัจจุบัน เทรนด์ผู้บริโภคจีนนิยมอาหารไทยมักจะซื้อเป็นของฝาก และนิยมอาหารไทยมากขึ้น  ขณะที่อินไซด์ผู้บริโภคจีนยังชอบอาหารรสชาติมัน ไม่เผ็ดมากนัก ซึ่งมาม่ามีผลิตภัณฑ์รสชาติที่หลากหลายตอบโจทย์ โดยเฉพาะรสต้มยำกุ้ง ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก พร้อมวางแผนทำตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางคอมเมิร์ซจีน

“ประชากรจีนมีขนาดใหญ่มาก หากเราทำยอดขายได้สัก 1% ของประเทศเขา ก็เกินกว่ายอดขายทั้งประเทศไทยแล้ว” พันธ์ กล่าว

พร้อมเสริมอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนกลับเข้าไปทำตลาดเวียดนาม ด้วยเช่นกัน จากก่อนหน้าได้เข้าไปทำตลาดมาระยะหนึ่งก่อนปิดกิจการโรงงานมาม่าในเวียดนาม ไปเมื่อปี 2542 จากการแข่งขันที่มีเจ้าตลาดท้องถิ่นรายใหญ่ในขณะนั้น

โดยบริษัท มองเห็นโอกาสจากการเข้าตลาดเวียดนาม ร่วมกับผู้ประกอบการไทย ที่ได้เข้าไปไปลงทุนธุรกิจร้านค้าปลีกในประเทศดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2567 นี้

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนเพิ่มมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามสหภาพยุโรปกำหนด เพื่อนำสินค้าเดิมที่มีอยู่ขยายตลาดในยุโรป เพิ่มขึ้นใน ในช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น

โมเดลธุรกิจใหม่ เจาะตลาดใหม่ 

พันธ์ กล่าวต่อ ทิศทางการทำธุรกิจในอนาคตที่มุ่งต่อยอดสู่อาหารแห่งอนาคต (Future Food) โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อย่างไม่หยุดนิ่ง

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคได้เห็นสินค้าแบรนด์มาม่าในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น Mama Station หรือ ร้านอาหารมาม่าในห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ซึ่งจะได้เห็นมากขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

สำหรับผลประกอบการคาดว่าในปี 2566 คาดจะมียอดขาย 15,568.52 ล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 11,306.49 ล้านบาท ต่างประเทศ 4,262.03 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 4% จากในปี 2565  พร้อมคาดว่าในปี 2567 จะเติบโตราว 5 – 7 %

ปัจจุบัน มีสัดส่วนการทำตลาดแบ่งเป็นในประเทศ 70 % และต่างประเทศ 30 % พร้อมเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 40 - 50 % ในอนาคต

พร้อมปรับตัวขานรับขึ้นค่าแรง

พันธ์ กล่าวต่อถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายของรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า บริษัท ในฐานะธุรกิจที่สามารถปรับตัวและรับมือได้ โดยมองถึงต้นทุนแรงงานการผลิตต่อซอง โดยปัจจุบันบริษัท มีกำลังการผลิตราว 300-450 ก้อนต่อนาที หากกำลังผลิตทำได้มากขึ้นก็ไม่กระทบมาก ด้วย พนักงาน 1 คน สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น

“จุดนี้ รัฐบาลต้อง บาลานซ์) โดยอาจช่วยเอกชนลดภาษีเครื่องจักร เพื่อเอื้อต่อการเพิ่มกำลังการผลิตที่ใช้งบประมาณ 100-200 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ เพื่อผ่อนปรนผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงซึ่งจะทำให้เอกชนปรับตัวได้ดีขึ้น และแรงงานได้ค่าแรงเพิ่ม บรรเทาปัญหาค่าครองชีพ” พันธ์ กล่าว

 

 

 

TAGS: #ไทยเพรสซิเดนซ์ #ฟู้ด #มาม่า #บะหี่กึ่งสำเร็จรูป