เปิดธุรกิจเอสโซ่อยู่คู่คนไทยยาวนาน ก่อนอำลาปั๊มน้ำมัน หลังบางจากคว้าดีลซื้อหุ้นฮุบโรงกลั่น-ค้าปลีกน้ำมัน แม้สวนทางเทรนด์อีวี มั่นใจดีต่อคนไทย
บางจากถือฤกษ์เวลา 21.00 น.ของวันที่ 11 ม.ค. จรดปากกาลงนามซื้อขายหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“เอสโซ่”) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (“ExxonMobil”) สัดส่วน 65.99% ใช้เงินกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท
ส่งผลให้ปั๊มเอสโซ่ที่มีอยู่ 700 แห่งต้องกลายเป็นตำนานปั๊มน้ำมันสัญชาติอเมริกันของประเทศไทยไปโดยปริยาย แต่ยังคงมีโอกาสได้เห็นแบรนด์ Esso ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เนื่องจากดีลครั้งนี้เป็นการซื้อขายสินทรัพย์คือ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และปั๊มน้ำมัน
สำหรับบริษัท เอสโซ่ แล้ว ตลอด 128 ปี ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยนับเป็นผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบครบวงจร (integrated)
ทั้งการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และเคมีภัณฑ์อื่นโดยช่องทางขายผ่านทางลูกค้ารายย่อยและทางเครือข่ายที่กว้างขวางของสถานีบริการน้ำมันค้าปลีกภายใต้ชื่อการค้าเอสโซ่ รวมทั้งขายโดยตรงให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม ค้าส่ง การบินและการเดินเรือ
ธุรกิจแรกที่เอสโซ่เข้ามาทำธุรกิจในไทยเริ่มเมื่อปี 2437 ในนามบริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก เปิดสาขาในประเทศไทยที่ตรอกกัปตันบุช จำหน่ายน้ำมันก๊าดตราไก่และตรานกอินทรี
ในปี 2474 ได้ร่วมกับและบริษัท แว๊คคั่มออยล์ จัดตั้ง บริษัท โซโกนีแว๊คคั่ม คอร์ปอเรชั่น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นตรา “การ์กอยส์
หลังจากนั้นในปี 2476 ร่วมทุนกับบริษัทแสตนดาร์ดออยส์ (นิวเจอร์ซี) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท แสตนดาร์ดแว๊คคั่มออยล์ จำกัด ใช้เครื่องหมายการค้า “ม้าบิน”
ปี 2490 รับชื้อกิจการคลังน้ำมันช่องนนทรีจากกรมเชื้อเพลิงมาดำเนินการ และในปี 2505 เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น จำกัด พร้อมกับเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าจาก “ตราม้าบิน” มาเป็น “ตราเอสโซ่” ในวงรีรูปไข่
ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันได้เริ่มดำเนินงานในปี 2514 และต่อมาบริษัทได้รับอนุญาตให้ขยายโรงงานและประกอบกิจการโรงงานกลั่นน้ำมันกำลังการผลิตไม่เกินวันละ 35,000 บาร์เรล จนถึงปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่มีกำลังการผลิตเต็มจำนวนอยู่ที่ 1.74 แสนบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตามในปี 2539 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และเมื่อปี 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราครุฑ แก่บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อเริ่มการก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ศรีราชา
ด้านชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจซื้อหุ้นเอสโซ่เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งผู้บริโภค จะมีทางเลือกในการใช้บริการน้ำมันในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากปั๊มเอสโซ่กว่า 700 แห่งอยู่ในกรุงเทพชั้นใน ขณะที่ประเทศมองในแง่ยุทธศาสตร์ได้ธุรกิจน้ำมันต่างชาติกลับมา และบางจากได้ความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากจะมีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดในประเทศ
“แม้ปัจจุบันรถอีวีกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่ทุกคนสนใจแต่ในทางปฏิบัติน้ำมันก็ยังเป็นเชื้อเพลิงหลัก ยอดขายรถทั่วไปปีละ8-9 แสนคัน โดย 90 % เป็นรถที่ใช้น้ำมัน ขณะที่รถอีวียังเป็นหลักหมื่น อย่างกรณีการใช้รถอีวีในจีนยังมีปัญหาเรื่องปั๊มชาร์ทในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว เมื่อทุกคนเอารถมาวิ่งทางไกลใช้เวลานานในการต่อคิวชาร์ทไฟฟ้า”