รมว.พลังงานฉุนข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันยังไร้คำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย้ำต้องสรุปโดยเร็ว ชี้ค่าการกลั่นไม่ใช่ค่าใช้จ่ายแต่เป็นกำไรของผู้ค้าน้ำมัน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินว่า ทางกระทรวงพลังงานได้เสนอ 2 แนวทางคือ มาตรการช่วยเหลือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ลดภาระค่าใช้จ่าย มาตรการที่ 2 คือการขยายจากกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการขนาดเล็กอื่นๆ แต่เห็นว่ายังไม่ใช่มาตรการที่ต้องการ จึงเสนอแนวทางที่ 3 ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังและที่ประชุม ครม.เห็นด้วยในแนวทางลดน้ำมันเบนซินในภาพรวมทุกระบบเช่นเดียวกับที่ลดราคาค่าน้ำมันดีเซล ที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
ส่วนเป้าหมายจะต้องลดไม่น้อยกว่าดีเซล แต่ก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลังว่า จะสามารถรับภาระได้เท่าไหร่ เราพูดล่วงหน้าไม่ได้ แต่จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ตอบไม่ได้ ส่วนจำเป็นจะต้องใช้การลดภาษีสรรพสามิตหรือไม่ต้องศึกษาให้ละเอียด ซึ่งในเรื่องนโยบายเป็นเรื่องของผู้เกี่ยวข้อง จะต้องได้คำตอบภายใน 2 สัปดาห์
“น้ำมันเบนซินมีปัญหาเรื่องโครงสร้างน้ำมัน ผมยังไม่เข้าใจหลังจากที่มาทำงานได้เดือนกว่า คนที่ทำงานมาเป็นปียังไม่สามารถให้คำตอบผมได้ แปลกประหลาด ผมต้องศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง หากปรับลดตรงไหนก็จะดำเนินการ เราพูดบนพื้นฐานบนโครงสร้างน้ำมันที่ใช้มาแล้วเป็นสิบๆปี ต้องหาแนวทางปรับลดราคามากกว่าและยั่งยืนกว่า ถ้าติดขัดเรื่องกฎหมาย ก็ต้องแก้ ไม่ใช่เรื่องยาก”
นายพีระพันธุ์ กล่าวถึง การลดค่าการตลาดน้ำมัน ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการทำการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ คุยไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะข้อมูลที่ให้มาก็อ้างว่าเป็นความลับทางการค้า จึงต้องตั้งคณะกรรมการศึกษาจริงจัง นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้คำตอบ ต้องนำของกระทรวงเป็นทางการ ถ้าไม่ให้ก็ต้องใช้ของราชการเป็นหลัก เมื่อให้โอกาสนำตัวเลขมาชี้แจงไม่มา ตนก็ช่วยไม่ได้
สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมัน มีตั้งแต่ราคาหน้าโรงกลั่น ที่บวกค่าการกลั่นแล้ว ที่จริงแล้วค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้นไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการกลั่น ซึ่งอยู่ในงบดำเนินงาน ตนได้บอกกับเจ้าหน้าที่กระทรวงให้เปลี่ยนคำเพราะใช้คำว่าค่าการกลั่นคนทั่วไปก็นึกว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ มันคือกำไรของโรงกลั่น ตนให้เวลาทำงาน 30-60 วัน เราไม่จำเป็นต้องรอเสียเวลา
อย่างไรก็ตามเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน โดยเอกสารเพิ่งจะมาถึงวันที่ 27 ก.ย. อีกทั้งรมว.พลังงานมีหน้าที่แค่เสนอชื่อเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อตัดสินว่าจะเอาหรือไม่เอาใคร แต่เมื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 22 พ.ค. มีมติเห็นชอบ แต่ให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ความเห็นชอบก่อน แปลว่ามติครม.ยังมีเงื่อนไข ดังนั้นต้องส่งเรื่องไปที่กฟผ. หากยืนยันแล้วก็นำเข้า ครม. อีกครั้ง
“เรื่องนี้เป็นการทำตามขั้นตอน แต่รายชื่อบุคคลต้องไปถามที่กฟผ.เพราะเขาเป็นผู้ส่งรายชื่อ ผมเป็นแค่ผู้ส่งเข้า ครม. เท่านั้น” นายพีระพันธุ์กล่าว