MI GROUP เปิดข้อมูลเชิงลึกแรงงานเมียนมา 6.8 ล้านคนในไทยกับมูลค่าขนาดเศรษฐกิจ 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี ที่เติบโตดีต่อเนื่อง จากหลายปัจจัยบวกหนุนสินค้าแบรนด์ไทยได้รับความนิยม
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP กล่าวว่า บริษัทมุ่งสร้างการเติบโตการทำตลาดต่างประเทศในเชิงรุก ผ่านสายธุรกิจ ‘MI BRIDGE’ พร้อมทำงานร่วมกับ ‘MI Learn Lab’ ร่วมนำเสนอวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับข้อมูลในกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” จากการสำรวจในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน และ พฤษภาคม-มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันคาดการณ์มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาพำนักในไทยไม่ต่ำกว่า 10.2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเมียนมาราว 6.8 ล้านคน คาดมีจำนวนประมาณ 1.8 ล้านคนเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย อายุระหว่าง 25-34 ปี และมีบางกลุ่มเดินทางเข้ามาทำงานในไทยตั้งแต่อายุ 15 ปี ในสายอาชีพ 5 อันดับแรก คือ
- ภาคการผลิต,โรงงาน สัดส่วน 39%
- ภาคการก่อสร้าง สัดส่วน 18%
- พนักงานบริการ สัดส่วน 15 %
- ภาคการเกษตร สัดส่วน 11%
- รับจ้างทั่วไป สัดส่วน 9%
และอื่นๆ สัดส่วน 8%
“แรงงานเมียนมาจำนวนดังกล่าว ยังใกล้เคียงกับคนรุ่นใหม่ Gen Z ของประชากรไทย สะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาสินค้า-บริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานนี้ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาทต่อปี” ภวัต กล่าว
ใช้ 37% ของเงินเดือนจับจ่ายในไทย
วิชิต คุณคงคาพันธ์ Head of International Business Development, MI GROUP กล่าวว่า จากผลวิจัยฯยังระบุพฤติกรรมแรงงานเมียนมาในไทย จะมีรายได้เฉลี่ย 10,000-15,000 บาทต่อเดือน เป็นอัตราสูงกว่า 3-15 เท่าเทียบกับรายรับจากการทำงานในเมียนมาเฉลี่ย 1,000-5,000 บาทต่อเดือน
โดยกลุ่มแรงงานเมียนมาในไทย จะควบคุมรายจ่ายราว 56% จากรายได้ทั้งหมด แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญ คือ
- ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (37%)
- ค่าที่อยู่อาศัย (16%) ค่าโทรศัพท์ (3%) เน้นติดต่อสื่อสารผ่านการใช้แอพพลิเคชันเป็นหลัก
นอกจากนี้ แรงงานเมียนมาจะเก็บเงินเพื่อนำส่งกลับบ้านราว 2 ใน 3 เพื่อให้ครอบครัวที่เมียนมามีเงินใช้และมีเงินออม ปัจจุบันนิยมให้นายหน้าผู้ดำเนินการโอนเงินให้ และเหลือเงินเก็บที่ตัวเองเพียง 1 ใน 3
ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างแรงงานเมียนมา ดังกล่าวยังสามารถเข้าถึงบริการ Mobile Banking สะท้อนโอกาสทางภาคธุรกิจการเงินในการพัฒนาหรือต่อยอดการบริการเพื่อรองรับกลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้านี้ได้
รวมไปถึงความสนใจใช้รายได้เพื่อการเก็บออมผ่านทองคำ ทั้งเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับและแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที เมื่อต้องการในช่วงเวลาเดินทางกลับประเทศเมียนมา ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสทำตลาดของผู้ให้บริการด้านผลิตภัณฑ์ทองคำ เช่นกัน
โดยแรงงานเมียนมาที่อยู่ในไทย จะแบ่งช่วงชีวิตออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
- ช่วงตั้งหลัก’ (เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย) มีความสนใจ
- สินค้าบริการกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม อาทิ ซิมการ์ด เพื่อใช้บริการสื่อสารข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Data) เป็นหลักมากกว่าการใช้บริการผ่านเสียง (Voice)
- กลุ่มที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอางและมองหางาน
โดยช่องทางสื่อสารการตลาดในผู้บริโภคกลุ่มนี้ อาทิ บิลบอร์ด สื่อข้างทาง และสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ค, สื่อนอกบ้าน เคลื่อนที่(รถตู้, รถสองแถว) และ ตัวแทนนายหน้า
- ‘ช่วงตั้งตัว’ (ทำงานและใช้ชีวิตมาระยะหนึ่งแล้ว) มีความต้องการ
- ใบอนุญาตทำงาน
- บัญชีเงินฝาก
โดยช่องทางสื่อสารการตลาดในผู้บริโภคกลุ่มนี้ อาทิ ตัวแทนนายหน้า/โรงงาน และ การตลาดแบบบอกต่อ (Word of Mouth) จากผู้นำที่มีผลต่อความคิด (KOLs) ในสังคมชุมชนทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เป็นต้น
- ‘ช่วงตั้งใจ’ (เน้นติดต่อครอบครัวและเตรียมตัวกลับประเทศเมียนมา) มีความต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป สนใจประเภทคอนเทนต์ที่ไม่เหมือนกัน
โดยช่องทางสื่อสารการตลาดในผู้บริโภคกลุ่มนี้ แบรนด์ จะต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม
ใช้เน็ตเชื่อมทุกไลฟ์สไตล์
วิชิต กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการใช้เงินของชาวเมียนมา ยังเชื่อมโยงกับการบริโภคสื่อ ดังนี้
- เน้นใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ เพื่อติดตามละคร ภาพยนตร์ และรายการต่างๆ (97%)
- ดูข่าวและอ่านข่าวสารบ้านเมือง (87%)
- ฟังวิทยุและฟังเพลง (48%)
โดยข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจพบว่า 74% ของกลุ่มตัวอย่างนี้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ในการซื้อของ โดย Lazada เป็นช่องทางอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับ คือ Facebook, Shopee และ TikTok
นอกจากนี้ สินค้าบริการแบรนด์ไทยที่มีข้อความ หรือ ฉลากระบุเป็นภาษาไทย และมีแหล่งผลิตมาจากไทย ยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ชาวเมียนมา ให้ความเชื่อถือพร้อมเลือกซื้อเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งในอนาคตขนาดเศรษฐกิจในตลาดแรงงานเมียนมาในไทย คาดจะยังเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจัยร่วมกันทั้งความต้องการส่งออกแรงงานเมียนมา มายังไทย และความต้องการแรงงานต่างชาติของไทย