‘พาณิชย์’ประเมินส่งออกสิ้นปีติดลบ 1% เร่งทำออเดอร์ 3 เดือนที่เหลือ ‘ภูมิธรรม’นัดฑูตพาณิชย์หารือรับมือสงครามอิสราเอล หวั่นลามตะวันออกกลางกระทบการขนส่งสินค้า
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนก.ย. 2566 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.ย. 2566 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (888,666 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.1 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 1.0 การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยได้รับแรงหนุนจากการการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นสินค้าที่เติบตามเมกะเทรนด์ เช่นโซลาเซลล์ และโทรศัพท์มือถือ
อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตโลกเดือนนี้ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของตลาดหลักยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ชะลออุปสงค์ทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.8 มีมูลค่า 213,069.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 218,902.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.0 ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 12.0 (YoY) พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.4 พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 166.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน
ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 12.0 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ จีน และอาร์เจนตินา) ยางพารา หดตัวร้อยละ 30.3 หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดตุรกี ฝรั่งเศส กัมพูชา โรมาเนีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.0
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว (หลังจากขยายตัวเดือนก่อนหน้า) ร้อยละ 0.3 (YoY) แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซียและซาอุดีอาระเบีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 27.3 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง อิตาลี สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม และญี่ปุ่น) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์และเม็กซิโก)
นายกีรติ กล่าวถึง แนวโน้มการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ว่า ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรค ด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับโควิด-19
ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่ไทยมีศักยภาพ รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ ๆ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งอาจขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าของโลกในระยะถัดไป
“การส่งออกช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากลับมาบวกติดต่อกันเฉลี่ยเดือนละ 2.4-2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมองว่าช่วงเวลาที่เหลือปีนี้ หากเร่งยอดส่งออกให้ได้ระดับนี้มีโอกาสที่ส่งออกทั้งปีจะติดลบเพียงร้อยละ 1 น้อยกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์กันไว้ เนื่องจากช่วงปลายปีเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าในหลายกลุ่มเข้ามาต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ยังกังวล คือ สงครามอิสราเอลและฮามาสหากยังอยู่ในวงจำกัดก็ไม่น่าจะกระทบอะไรมาก แต่หากรุนแรงขยายวงกว้างไปถึงตะวันออกกลางต้องติดตามดูว่าจะกระทบในด้านการขนส่งสินค้าหรือไม่ โดยเฉพาะขนส่งทางบกและทางทะเล”
อย่างไรก็ตามในวันที่ 3 พ.ย.นี้ นายภูมิธรรมเวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ จะเป็นประธานประชุมมอบนโนบายกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกและประเมินทิศทางภาคการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ พร้อมทั้งเตรียมแผนรองรับหากสถานการณ์สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีความรุนแรงขยายวกว้างจะมีแผนรับมืออย่างไรบ้าง