ส.อ.ท.ขยับเป้าผลิตรถขายในประเทศลง 5 หมื่นคันหลังออเดอร์กลุ่มกระบะลด ถูกลิสซิ่งคุมเข้ม ด้านส่งออกยังมีโอกาสดีเป็นไปตามเป้า ชี้เทรนด์EVตอบโจท
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มฯ ในปี พ.ศ.2566 (ใหม่) ปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2566 จาก 1.9 ล้านคันเป็น 1.85 ล้านคัน ลดลง 5 หมื่นคัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 8.5 แสนคันเป็น 8 แสนคัน ลดลงร้อยละ 5.88
ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากมีการนำเข้ารถยนต์จำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประกอบยอดจำหน่ายรถยนต์กระบะลดลง เนื่องจากสินเชื่อไม่ได้รับการอนุมัติค่อนข้างเยอะจากหนี้ครัวเรือน สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น
ขณะที่ค่าครองชีพที่ยังสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวไม่มาก และการส่งออกสินค้าหลายชนิดลดลงส่งผลให้คนงานมีรายได้ลดลง
สำหรับสถิติการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2566 มีทั้งสิ้น 164,093 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 8.45 จากการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงร้อยละ 17.87 โดยรถกระบะบรรทุกและกระบะสี่ประตูที่ผลิตลดลงร้อยละ 47.13 และ 50.25 ตามลำดับ ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.- ก.ย. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,385,971 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กันยายน 2565 ร้อยละ 1.61 โดยยอดผลิตของรถยนต์นั่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2566 มีจำนวน 481,054 คัน เท่ากับร้อยละ 34.71 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กันยายน 2565 ร้อยละ 15.32
ส่วนการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก เดือนกันยายน 2566 ผลิตได้ 104,096 คัน เท่ากับร้อยละ 63.44 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 1.97 โดยช่วง 9 เดือนแรก ผลิตเพื่อส่งออกได้ 809,964 คัน เท่ากับร้อยละ 58.44 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 8.52
ด้านการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนกันยายน 2566 ผลิตได้ 59,997 คัน เท่ากับร้อยละ 36.56 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 17.87 และ ช่วง 9 เดือนแรกของปีผลิตได้ 576,007 คัน เท่ากับร้อยละ 41.56 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง ร้อยละ 6.74
ทั้งนี้ยอดขายถยนต์ภายในประเทศของเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 62,086 คัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 2.56 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 16.27 จากยอดขายรถกระบะที่ลดลงร้อยละ 45 เพราะความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนสูง แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ดังต่อไปนี้ รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) 46,985 คัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 30.31 รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 6,881 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 437.16 รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 74 คัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 81.07 รถยนต์ไฟฟ้าผสม (HEV) 8,146 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 61.18
สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนกันยายน 2566 ส่งออกได้ 97,476 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 11.33 แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 2.90 เพราะฐานสูงในปีที่แล้วที่ได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วจากการกลับมาทำงานในบริษัทและไม่ต้องเรียนทางไกลเพราะสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ตามจากยอดส่งออกที่สูงจึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ มูลค่าการส่งออก 62,451.33 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 7.49 โดยช่วง 9 เดือนแรก สามารถส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 821,899 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 16.34 มีมูลค่าการส่งออก 519,435.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กันยายน 2565 ร้อยละ 19.27
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการรถEV ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV ช่วง 9 เดือนมีจำนวน 67,929 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 411.40 ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 65,423 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.34 ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 9,534 คัน เพิ่มขึ้น 8.44
“ขณะนี้ค่ายรถยนต์กำลังติดตามนโยบายส่งเสริมรถอีวี 3.5 จะสามารถออกได้ทันในปีนี้หรือไม่ ซึ่งยอมรับว่ากระแสรถอีวีได้รับการตอบรับดีมาก ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่แพง ส่งผลให้เป้าหมายการผลิตรถเพื่อขายในประเทศต้องปรับลดลง เนื่องจากมีการนำเข้ารถอีวีเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น แต่ก็ยังมั่นใจว่ารัฐบาลยังคงให้การส่งเสริมทั้งรถอีวีและรถยนต์สันดาป”