ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่ 3.7% จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2565 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.4% ส่งผลให้ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.2% ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4/2565 มีปัจจัยกดดันหลักมาจากส่งออกสินค้าที่หดตัวถึง -10.5% ตามการโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง
นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐก็หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็ขยายตัวต่ำกว่าคาด เนื่องจากการใช้จ่ายและลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโควิดนั้นลดลงอย่างมาก ป
ระกอบกับอัตราการเบิกจ่ายนั้นแม้จะสูงกว่าในไตรมาสก่อนหน้าแต่ก็ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ ในด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2565 การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวส่งผลให้การส่งออกในภาคบริการนั้นขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 94.6% ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็ได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 5.7% ในไตรมาส 4/2565 แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ถึง 9.1%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าประมาณการของสภาพัฒน์ที่ 2.7-3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงจะเป็นขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปีนี้ แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจกดดันการส่งออกไทยให้หดตัวเล็กน้อยในปีนี้
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจโลกอาจไม่ชะลอตัวลงแรงอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนคงส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งคงส่งผลบวกต่อไปยังการค้าและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงแต่ตัวเลขตลาดแรงงานและยอดค้าปลีกล่าสุดยังคงสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งอาจส่งผลให้การเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นล่าช้าออกไปจากเดิม