‘เศรษฐา’ลั่นไทยพร้อมรับทุนต่างชาติมุ่งอุตฯเป้าหมายเร่งฟื้นศก.

‘เศรษฐา’ลั่นไทยพร้อมรับทุนต่างชาติมุ่งอุตฯเป้าหมายเร่งฟื้นศก.
ส.อ.ท.จัดใหญ่ FIC 2023 เปิดเวที นายกฯพบนักธุรกิจไทย-ต่างชาติ ผนึกความร่วมมือเร่งสร้างเครือข่ายดึงเงินลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน” (Reformation of Thai Economy Amidst Polycrisis) ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกำหนดทิศทางที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและยั่งยืน

รวมทั้งจำเป็นต้องส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสร้างความได้เปรียบ โดยบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูงเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของโลก

ทั้งนี้รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้ายกระดับภาคเกษตรกรรมไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและเกิดความยั่งยืน การเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การดำเนินยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประตูยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ในภูมิภาค การเร่งพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเน้นผลักดันนโยบายและมาตรการการลงทุน การเตรียมความพร้อมของรัฐเพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการที่เป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุน ตลอดจนการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม

“เราพร้อมเปิดรับและร่วมมือกับภาคเอกชนและนักลงทุน ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) อุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง”

 สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร่งด่วนของรัฐบาล คือการทําให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า และเตรียมพร้อมประเทศไทยให้ประสบความสําเร็จในระยะยาว ผ่านการลดค่าครองชีพ ส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสให้คนไทย และขยายการลงทุนและธุรกิจ ทั้งนี้รัฐบาลกําลังทํางานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งนโยบายที่เป็น quick wins รัฐบาลได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ระงับการชําระหนี้ชั่วคราวสําหรับเกษตรกร และอยู่ในขั้นตอนของการพักหนี้ให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงนโยบาย Digital Wallet ซึ่งจะช่วยเพิ่มกําลังซื้อของประชาชน และเพิ่มการผลิตสินค้า นําไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรียังประกาศความพร้อมของรัฐบาลในการเปลี่ยนประเทศไทยจากผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีกำไรต่ำและเน้นสินค้าเกษตร ไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรม S-curve 1. อุตสาหกรรม EV มีเป้าหมายเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน EV ที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและส่วนประกอบ 
2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ผ่านการวางแผนที่จะยกระดับการลงทุนต้นน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ระดับโลกและทันสมัย

3.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ(Automation) รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนในการผลิตและบริการด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การรวมระบบ(system integration) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   4.อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทําให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพทั้งในภูมิภาคและโลก  5.อาหารแปรรูป โดยเสริมความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารของไทย 

นายกรัฐมนตรีกล่าวชักชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยี องค์ความรู้ โดยรัฐบาลพร้อมทํางานอย่างใกล้ชิดกับ BOI และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงความสะดวกในการทําธุรกิจ สิทธิประโยชน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของภูมิภาค ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีการยื่นขอรับลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหวังว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนับเป็นโอกาสที่ดีสําหรับทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ร่วมงานทุกคนในวันนี้สามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุน และพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจาก Polycrisis ที่เข้ามารุมล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี (Trade War & Tech War) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Recession) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายและความอยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยน Business Model

“วันนี้ ส.อ.ท.มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 First Industries คือ อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ซึ่งกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Disruption Technology) ต้องปรับตัวให้สามารถรักษาศักยภาพของอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ 2 Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมดิจิทัล การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วย BCG Model ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero”

ทางส.อ.ท.เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศไทย จึงได้จัดตั้ง Foreign Industrial Club (FIC) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้ภาคเอกชน ภาครัฐ คณะทูต และนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย สามารถพบปะหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำธุรกิจและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและเศรษฐกิจของไทย โดยคาดหวังว่าเวที FIC แห่งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การลงทุนใหม่ๆ และขยายการลงทุนเดิมของภาคอุตสาหกรรมไทย

 

 

 

TAGS: #FIC2023 #ส.อ.ท. #อุตสาหกรรมเป้าหมาย