เงินเฟ้อไทยลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือนจากมาตรการรัฐ

เงินเฟ้อไทยลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือนจากมาตรการรัฐ
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อแผ่วลงต่อเนื่อง จากปัจจัยราคาสินค้าพลังงาน-หมวดอุปโภคบริโภคลดลง  คาดการณ์ทั้งปียังอยู่ในกรอบ 1.7 % ตามทิศทางภาวะเศรษฐกิจ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนตุลาคม 2566 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.31 (YoY) เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและสินค้าอุปโภค-บริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งเนื้อสุกร และผักสด ที่ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.66 (YoY)

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.30 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 8 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ  

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม 2566 ที่ลดลงร้อยละ 0.31 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.65 (YoY) ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรเร่งระบายสุกรในช่วงที่ขายได้ราคา แม้ว่ายังไม่ครบอายุการเลี้ยง

ด้านผักสด (ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา) ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก ราคาลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (แตงโม มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน

ด้านหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.09 (YoY) ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันดีเซล) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) ราคาลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบิน กลุ่มน้ำมันเบนซิน กลุ่มแก๊สโซฮอล์ และค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน กระดาษชำระ) ราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากโปรโมชัน นอกจากนี้ ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่ายา (ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้) บุหรี่ สุรา และไวน์ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย  

อย่างไรก็ตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ลดลงร้อยละ 0.28 (MoM) โดยหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.61 ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท

รวมทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ โฟมล้างหน้า แชมพูสระผม สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน น้ำยาระงับกลิ่นกาย บุหรี่ สุรา และไวน์ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.18 สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสดบางประเภท (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว) เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะ น้ำท่วม รวมทั้งอาหารโทรสั่ง (delivery) ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ (ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน ลองกอง ฝรั่ง) น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม และน้ำปลา

ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค. – ต.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.60 (AoA) ซึ่งเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายที่รมว.คลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0 – 3.0) โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร (เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร) และกลุ่มพลังงาน (ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง)

ตลอดจนสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ราคาปรับสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว จากมาตรการจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ผลิตรายสำคัญของโลกและความขัดแย้งในต่างประเทศ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.35) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2566 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.8 จากระดับ 55.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับสูงขึ้น

 

TAGS: #เงินเฟ้อ #ราคาพลังงาน #ลดค่าครองชีพ