จุฬาฯ เปิดหลักสูตร MSB เรียนวิทย์ฯควบโทการตลาด รับความต้องการสายอาชีพอนาคตเปลี่ยน

จุฬาฯ เปิดหลักสูตร MSB เรียนวิทย์ฯควบโทการตลาด รับความต้องการสายอาชีพอนาคตเปลี่ยน
CBS จุฬาฯ เปิดมิติใหม่หลักสูตรศึกษา ‘MSB’ เรียนปริญญาตรีควบโท วิทยาศาสตร์-พาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ได้พร้อมกัน รับอนาคตความต้องการแรงงานธุรกิจเปลี่ยน สร้างนวัตกรรมการตลาดจากฐานวิทย์ฯ

ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn Business School (CBS)  กล่าวว่า CBS ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เปิดหลักสูตร MSB ( Master of Science in Business) เป็นครั้งแรกของวงการอุดมศึกษาในไทย

โดยหลักสูตรดังกล่าว ได้ถูกออกแบบให้ผู้ศึกษาข้ามศาสตร์ระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กับคณะด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกายภาพ (รวมถึงคณะด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตสาขาอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีได้เรียนควบคู่ปริญญาโททางธุรกิจอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงาน

สำหรับหลักสูตรฯ ดังกล่าว วางเป้าหมายเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ (กลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกายภาพ) ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต จากการรวบรวมศาสตร์ความรู้ระดับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ ให้มีความรู้ประสบการณ์ทางธุรกิจ

“MSB ยังเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่ตอบรับอนาคตตลาดแรงงานและสายอาชีพ (Future of jobs) จากการบูรณาการความรู้สองศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ และพัฒนาทักษะการเตรียมตัวเป็นผู้ประกอบการ พร้อมเปิดโอกาสการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับซีอีโอ ระดับประเทศ และการทำแผนธุรกิจจริง”  ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ กล่าว  

นอกจากนี้  MSB ยังมีจุดเด่นการเป็นหลักสูตรแบบ ‘AImost MBA’ เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน และประสงค์เรียนต่อเนื่อง(โดยมีหน่วยกิตปริญญาตรีครบ 120 หน่วยกิต) เพื่อรับปริญญาโทสาขาธุรกิจภายใน 1 ปี

โดยมีองค์ความรู้ประกอบด้วย 5 ศาสตร์วิชาหลัก ได้แก่บัญชี (Accounting), การเงิน(Finance), การบริหารจัดการ (Management) การตลาด (Marketing), สถิติและวิทยาศาตร์ข้อมูล (Statistics and Data Science) และโอกาสพิเศษจากวิชาใหม่ล่าสุด คือ CEO Experience Sharing เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ให้เป็นนักธุรกิจ ตั้งแต่ตันหลักสูตร ตลอดจนเรียนรู้การทำแผนธุรกิจ (Business Plan)

อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดดองค์ความรู้ระดับปริญญาตรี ให้ไปสู่การพัฒนานวัตกรรมสินค้าหรือบริการขององค์กรภาครัฐและเอกชนที่มหาบัณฑิตจะเข้าไปร่วมงาน หรือธุรกิจใหม่ ได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากความร่วมมือข้ามศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้แล้ว ในอนาคตจะยังมีแผนขยายศาสตร์ความรู้ไปยังคณะอื่นๆ ภายใต้หลักสูตรนี้ เช่นกัน อาทิ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ และคณะอื่นๆในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

โดย  ณัชชา สังข์สมิต

TAGS: #CBS #MSB #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย