เชื่อไหมว่าอนาคตของประเทศไทยจะดีกว่าเดิม นี่คือสิ่งที่ได้จากงาน The Better Future Forward 2024
สำนักข่าว The Better ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 พร้อมกับจัดงานสัมมนาอย่างยิ่งใหญ่ “The Better Future Forward 2024” โดยมีผู้รับเชิญมาแสดงปาฐกฐาเป็นถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมตรี ทั้งสองท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านนโยบาย ซึ่งสะท้อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พร้อมๆ กับการเติบโตของ The Better
ทำไมต้องเป็น'วิชั่นที่ดีกว่า'
หัวข้อที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถา คือ “วิชั่นใหม่ประเทศไทยสู่การค้ามูลค่าสูง : Building a High Value-added Economy”
นี่คือสิ่งที่ The Better อยากได้คำตอบแลพอยากให้คนไทยทุกคนได้รู้ เพราะประเทศของเรากำลังใกล้จะ Take-off จากการย่ำอยู่กับที่มานานนับสิบปี แต่ถ้าเราค้นพบว่าเราจะใช้อะไรเป็น 'จุดขาย' ต่อไป และจุดขายนั้นเป็นการปลดล็อคให้ไทยก้าวกระโดดไปอีกระดับที่สูงกกว่านี้
ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง
นายภูมิธรรมกล่าวว่า นับตั้งแต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2531 เราก้าวข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ต่ำกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลาง จนถึงปัจจุบัน 35 ปีมาแล้ว ยังติดกับดักรายได้ปานกลางไม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
'กับดักรายได้ปานกลาง' (Middle income trap) คืออะไร? คือสถานการณ์ที่ประเทศที่มีรายได้ที่แน่นอนในระดับหนึ่ง แล้วติดอยู่ที่ระดับนั้น ไม่สามารถยกระดับให้รายได้สูงไปกว่านี้ได้
รายได้ที่ว่านั้นต้องเป็นรายได้ปานกลาง ตามที่กำหนดโดยธนาคารโลก (World Bank) ในปี พ.ศ. 2550 โดยระบุว่า "กลุ่มรายได้ปานกลาง" คือมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว ซึ่งยังคงอยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขปี พ.ศ. 2554)
แต่ทำไมรายได้ไทยขึ้นๆ ลงๆ?
รายได้ต่อหัวของประเทศไทยในเวลานี้ อยู่ที่เพียง 6,919 ดอลลาร์ (ตัวเลขปี พ.ศ. 2565) ซึ่งที่จริงแล้วมันตกลงมาด้วยซ้ำ 7,060.9 ดอลลาร์เมื่อปี 2564 7,001.8 ดอลลาร์เมื่อปี 2563 และ 7,628.6 ดอลลาร์เมื่อปี 2562
การตกลงมานี้อาจเกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพราะก่อนที่จะถึงปี 2563 ตังเลขรายได้ต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นการตกลงมาช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2556 - 2560) ซึ่งสถานการณ์แบบเดียวกันยังเกิดขึ้นกับมาเลเซียด้วย เพียงแต่มาเลเซียขึ้นๆ ลงๆ กว่าไทย แม้แต่ช่วงที่ไม่ใช่การระบาดใหญ่
แล้วทำไมไทยถึงไม่ขยับ?
แม้ว่ามันจะขึ้นๆ ลงๆ ช่วงสั้นๆ แต่ระยะยาวรายได้ต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาก็คือมันยังไม่สามารถพุ่งไปถึงระดับประเทศรายได้สูงได้ และยังค่อนข้างอยู่ห่างไกลจากระดับนั้นด้วย นั่นคือต้องไปให้ถึง 13,845 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่านั้น แลัวอะไรที่ฉุดไทยไว้ไม่ให้ไปถึงจุดนั้น?
สาเหตุก็เพราะประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง เช่น ไทย จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ต้นทุนถูกกว่า เช่น ภาคการผลิตย้ายจากไทยไปเพื่อนบ้าน เพราะค่าแรงไทยสูงขึ้นไปตามสถานะของการเป็น "ชนชั้นกลาง" ของไทย
แต่นขณะเดียวกัน ไทยก็ยังไม่สามารถตามทันประเทศที่พัฒนาแล้วในตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ เพราะยังไม่สามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่มี high-value-added (มูลค่าสูง) นี่คือสิ่งที่ทำให้ The Better ต้องมองหา “วิชั่นใหม่ประเทศไทยสู่การค้ามูลค่าสูง
ประเทศไทยต้องแก้ที่ไหน?
สิ่งที่ทำให้เกิดกับดักขึ้นมาก็คือ การลงทุนต่ำ การเติบโตที่ช้าในภาครองของเศรษฐกิจ ความหลากหลายของอุตสาหกรรมที่จำกัด และสภาวะตลาดแรงงานที่ย่ำแย่ และที่เพิ่มมากขึ้นคือประชากรสูงวัย ทั้งหมดนี้คือตัวการของ Middle income trap ซึ่งประเทศไทยมีคุณสมบัตินี้ทั้งหมด
แต่ยังไม่หมดแค่นั้น นักสังคมวิทยายังชี้ว่า Middle income trap ยังเผชิญกับ "กับดักทางการเมือง" (political trap) คือมีปัญหาเชิงโครงสร้างและความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาระยะแรก ประเทศต่างๆ สามารถหลุดพ้นกับดักผู้มีรายได้ปานกลางได้ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและของมนุษย์ การบังคับใช้นโยบายทางสังคม เช่น ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น เพื่อกระตุ้นการบริโภคในระดับมหาชน
เราจะก้าวไปสู่อีกสเตป
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ สะท้อนถึงปัญหาเหล่านี้ในการแสดงวิชั่นกับ The Better โดยนายภูมิธรรมกล่าวว่า การที่ไทยยังติดกับดักรายได้ปลายกลาง ก็เพราะ "ปัญหาคือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย " ซึ่งมองคล้ายๆ กับนักสังคมวิทยาบางคนที่เชื่อว่าการเมืองก็มีส่วนต่อการที่ประเทศหนึ่งๆ ยังติดอยู่ในกับดัก แต่นายภูมิธรรมเชื่อว่า "วันนี้ไทยเป็นสังคมแห่งสันติ มองหาความปรองดองร่วมกัน" ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสที่ไทยจะ Take-off ได้
นายภูมิธรรมยังชี้ให้เห็นด้วยว่า "กระทรวงพาณิชย์อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งผู้บริโภคต้องการสินค้าราคาถูก ผู้ผลิตต้องการต้นทุนต่ำ ขายราคาสูง" เรื่องนี้เป็นกับดักอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะนักสังคมวิทยาชี้ว่า ความต้องการของชนชั้นนำในสังคมทำให้การบริโภคกระจุกตัว ซึ่งสวนทางกับการบริโภคในวงกว้างครอบคลุมทุกชนชั้น และยังทำให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้นถ้วนหน้า เป้าหมายของรัฐบาลก็คือต้องหาจุดสมดุลในเรื่องนี้
วิชั่นของรัฐบาลคือ?
นายภูมิธรรมกล่าวว่า "เราต้องกล้าคิดแบบใหม่ กล้ามองให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง มั่นใจและเชื่อมั่นว่าเราสามารถยกระดับประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจทุกภาคส่วน"
และสรุปวิธีแก้ไขเป็นข้อๆ ว่า
- ต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง คิดทุกอย่างบนฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์ ให้ประชาชนแข็งแรงก็จะเป็นกำลังซื้อที่แข็งแรงมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี
- ต้องกล้าคิดนอกกรอบ ถ้าทำแบบเดิมก็จะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างหาจุดร่วม ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยขึ้นอยู่กับความเป็นจริง
- ต้องกล้าทำ ... ถ้าไม่กล้าทำ กล้าคิดนอกกรอบ ถ้าแม้แต่เรายังไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ แล้วจะให้คนอื่นไปทำได้อย่างไร