ภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog ไม่ได้เป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่หมายถึงอาการที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของสมอง
สภาพสังคมในปัจจุบัน ความเร่งรีบ ความกดดันที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้หลายๆ คนประสบปัญหาความจำเลอะเลือน หลงลืม ไม่สามารถรับมือกับงานที่เกิดขึ้นพร้อมกันได้ เหมือนกับว่าสมองไม่ทำงาน อาการเหล่านี้เรียกว่า Brain Fog หรือ ภาวะสมองล้า ที่ระบบการทำงานของสมองเป็นปัญหา
ภาวะสมองล้าคืออะไร นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ชำนาญการด้านประสาทวิทยา ผู้อำนวยการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ อธิบายว่า ภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog ไม่ได้เป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่หมายถึงอาการที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของสมอง
โดยอาการจะคล้ายกับการมีเมฆหมอกปกคลุมสมองอยู่ ทำให้ไม่มีสมาธิในการจดจ่อ คิดช้าลง หรือหลงลืมได้ง่าย นอกจากนี้ ยังรวมถึงความเหนื่อยล้าทางจิตใจ อารมณ์แปรปรวน และภาวะความเครียดด้วยเช่นกัน
ภาวะสมองล้า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ ข้อดีคือสามารถฟื้นฟูให้การทำงานของสมองกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แต่อีกทางหนึ่งก็อาจสามารถกลับมาเป็นได้อีกเช่นกัน หากยังรักษาไม่ตรงจุด ซึ่งอาการของภาวะสมองล้า มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม การเรียน การทำงาน รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ เป็นต้น
สาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะสมองล้า
- นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ
- เครียด
- ขาดการออกำลังกาย
- ร่างกายขาดน้ำ
- มีโรคเรื้อรังบางโรค
- มีอาการทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
- ฮอร์โมนไม่สมดุล
นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัย ยังระบุเพิ่มเติมว่า สุขภาพสมอง มีความสัมพันธ์กับความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และระดับสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย ที่เรารับมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งจากมลภาวะ อาหาร หรือ น้ำดื่ม เป็นต้น
เว็บไซต์ Livescience เผย การระบุสาเหตุที่แท้จริงคือกุญแจสำคัญในการจัดการกับภาวะสมองล้า หากความฟุ้งซ่านทางจิตใจเกิดจากความเครียดหรือการอดนอน แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี และการกระตุ้นสมองด้วยเกมส์ Pluzzle ไขปริศนา สามารถช่วยลดความฟุ้งซ่านทางความคิดได้บ้าง
เอมี่ อาร์นสเตน นักประสาทวิทยา the Yale School of Medicine และเพื่อนร่วมงานของเธอกำลังค้นหาวิธีแก้ไขภาวะสมองล้า พวกเขาค้นพบยาที่มีแนวโน้มดี (แต่เดิมพัฒนาขึ้นเพื่อรักษาภาวะอื่นๆ เช่น โรคสมาธิสั้นและความดันโลหิตสูง) แต่งานของพวกเขายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นเธอกล่าวว่า "ส่วนต่อประสานของระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทนั้นซับซ้อนและสำคัญมาก"
ข่าวดีก็คือ ในส่วนใหญ่ ภาวะสมองล้าสามารถรักษาได้เนื่องจาก "สมองของมนุษย์นั้นค่อนข้างยืดหยุ่น" ดังนั้นแล้วการค้นหาต้นตอ หรือสาเหตุของการเกิดภาวะสมองล้า จึงเป็นกุญแจหลักที่จะช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม