คนไทย 1.7 ล้านคน เคยมีความผิดปกติการควบคุมตัวเองครั้งใดครั้งหนึ่งในชีวิต

คนไทย 1.7 ล้านคน เคยมีความผิดปกติการควบคุมตัวเองครั้งใดครั้งหนึ่งในชีวิต
คนไทย 1.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.9 เคยมีความผิดปกติการควบคุมตัวเองครั้งใดครั้งหนึ่งในชีวิต โดย 1.4 ล้านคน มีความผิดปกติการระเบิดอารมณ์เป็นครั้งคราวครั้งใดครั้งหนึ่งในชีวิต

ผลสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566 รายงานว่า คนไทย 1.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.9 เคยมีความผิดปกติการควบคุมตัวเองครั้งใดครั้งหนึ่งในชีวิต โดย 1.4 ล้านคน มีความผิดปกติการระเบิดอารมณ์เป็นครั้งคราวครั้งใดครั้งหนึ่งในชีวิต กลุ่มเสี่ยงอยู่ในช่วงอายุ 18-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 7.6 และพบว่าเจอในเพศชาย สูงกว่า เพศหญิงถึง 3 เท่า จากผลสำรวจยังรายงานอีกว่าพื้นที่ที่พบสูงสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 3.3

รายงานผลสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตนี้ยังรายงานอีกว่า ประชากรไทยกว่า 3.2 แสนคนเป็นโรคติดพนันครั้งใดครั้งหนึ่งในชีวิต พบพื้นที่ภาคใต้สูงสุดคิดเป็น ร้อยละ 1.4 สำหรับช่วงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ในช่วงอายุ 25-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 1.0 และมักพบในเพศชาย สูงกว่า เพศหญิง 3 เท่า

ความผิดปกติการควบคุมตนเอง เป็นโรคจิตเวชที่มีลักษณะไม่สามารถยับยั้งความอยากในการกระทำใดๆ ได้ ก่อให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่ตนเอง การเรียน การทำงาน ครอบครัว หรือสังคมได้ การกำกับ หรือ การควบคุมตนเอง (Self-Regulation) คือความสามารถของบุคคลในการปรับและควบคุม ระดับพลังงาน, อารมณ์, พฤติกรรม และสมาธิของตนเอง การกำกับ/ควบคุมตนเองที่เหมาะสมนั้นควรมีวิธีการปรับและควบคุมในลักณะที่เป็นที่ยอมรับของสังคม

เทพ สงวนกิตติพันธุ์ นักวิชาการศึกษา ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. อุดรธานี อธิบายเรื่องอารมณ์ว่า อารมณ์นั้นประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบคือ องค์ประกอบด้านสรีระ (Physiological  dimension) หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  ทางร่างกายที่จะต้องเกิดขึ้นควบคู่กับปฏิกิริยาทางอารมณ์  เช่น  หัวใจเต้นเร็ว  เหงื่อออกตามร่างกาย  หรือ  ใบหน้าร้อนผ่าว  เป็นต้น องค์ประกอบที่ 2 องค์ประกอบทางด้านการนึกคิด (Cognitive dimension)  หมายถึง  การมีปฏิกิริยาด้านจิตใจที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่และเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา   เช่น  ชอบ -ไม่ชอบ  หรือ  ถูกใจ- ไม่ถูกใจ  เป็นต้น องค์ประกอบสุดท้าย องค์ประกอบทางด้านการมีประสบการณ์ (Experiential dimension)  หมายถึง  การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของแต่ละบุคคลซึ่งจะมีความแตกต่างกันไป 

ทักษะการควบคุมตัวเองนั้นทำได้โดย 1. ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม (Set Smart Goal) เมื่อมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง วัดผลได้ สามารถทำได้สำเร็จ ตรงประเด็น และมีกำหนดเวลา ก็มีแนวโน้มที่จะทำตามเป้าหมายได้ 2. ค้นหาแรงจูงใจ สิ่งที่กระตุ้นเรามากที่สุดเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย 3. ควบคุมอารมณ์ของตนเอง เริ่มจากเข้าใจความฉลาดทางอารมณ์ การรู้จักตัวเองจะช่วยให้จัดการกับอารมณ์ของตัวเองและแรงกระตุ้นได้

TAGS: #ความผิดปกติการควบคุมอารมณ์ #การควบคุมอารมณ์