ตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค ถือเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะเจอภาวะเศรษฐกิจในรูปแบบใดก็ตาม เพราะเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ได้ประเมินมูลค่าธุรกิจของสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 จะเติบโต 5.5% ด้วยมูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตามปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้บริโภคเกิดทางเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นผู้ประกอบการเดิมหลายรายจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อให้ตนนั้นยังสามารถยืนอยู่ในตลาดได้
สุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO หนึ่งในผู้นำผลิตสินค้าอุปโภค โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มFineline , ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก แบรนด์ดีนี่ (D-nee) ฯลฯ ได้กล่าวถึงแผนกลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทฯที่มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ สร้างสรรค์คุณสมบัติที่มีเอกลักษณ์ จึงทำให้เป็น แบรนด์ผลิตภัณฑ์มีนวัตกรรมโดดเด่นและแตกต่าง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัยและทุกไลฟ์สไตล์
อีกทั้ง บริษัทฯ ไม่หยุดนิ่งในการมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ เพื่อนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Portfolio) ที่หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการ ผ่านการสื่อสารทางการตลาดและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายทำให้สามารถขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ (Mass Market) ไปยังกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) และกลุ่มพรีเมียม (Premium) ได้ในหลายแบรนด์ผลิตภัณฑ์ และยังรักษาลูกค้าปัจจุบันให้กลับมาซื้อสินค้าซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 16 ประเทศ โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และประเทศเมียนมาร์
ทั้งนี้ ปัจจุบัน NEO มีสินค้าอุปโภคครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม รวม 8 แบรนด์ ประกอบด้วย
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) ประกอบด้วย 3 แบรนด์ ได้แก่ (1) แบรนด์ไฟน์ไลน์(Fineline) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม และผลิตภัณฑ์รีดผ้าเรียบ (2) แบรนด์สมาร์ท (Smart) เช่นผลิตภัณฑ์ซักผ้า และผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม สูตรแอนตี้แบคทีเรีย และ (3) แบรนด์โทมิ (Tomi) เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) ประกอบด้วย 4 แบรนด์ ได้แก่ (1) แบรนด์บีไนซ์(BeNice) เช่น ผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น (2) แบรนด์ทรอส (TROS) เช่น ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้ชาย (3) แบรนด์เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) เช่น ผลิตภัณฑ์แป้ง ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง และ (4) แบรนด์วีไวต์ (Vivite) เช่น ผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง
3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) ภายใต้แบรนด์ดีนี่ (D-nee) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็ก ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มเด็ก และผลิตภัณฑ์อาบน้ำและสระผมเด็ก เป็นต้น
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา NEO ส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์ โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) บริษัทฯ ได้มีการนำเสนอนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพทำความสะอาดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นสารสกัดจากธรรมชาติและมีความอ่อนโยน รวมถึงการขยายสินค้าไปยังกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมแมส (Premium Mass) และระดับพรีเมียม (Premium) ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย” สุทธิเดช กล่าว
ด้านปัทมา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ NEO กล่าวว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกทั้งปัจจัยการก้าวเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ที่ขยายตัวและเกิดวิถีชีวิตใหม่ด้านสุขอนามัย ส่งผลให้อัตราการอุปโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น
ในขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่มีการเติบโตสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและขยายตัวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้อุตสาหกรรมอุปโภคเติบโต โดยบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่าน3 แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่
1) กลยุทธ์ด้านการตลาดเพื่อเพิ่มความนิยมของผลิตภัณฑ์และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด
บริษัทฯ มีการนำเสนอนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development) รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม (Relaunch) ให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น และมุ่งขยายสินค้าในพอร์ตโฟลิโอไปยังกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมแมส(Premium Mass) และระดับพรีเมียม (Premium) เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ พร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์ผ่านการสื่อสารทางการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างครบวงจร นอกจากนี้ บริษัทยังมีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับสินค้าที่มีศักยภาพเติบโตสูงให้ใกล้กับผู้นำตลาดมากขึ้น (Close Gap)
2) กลยุทธ์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง (Supply Chain Optimization)
โดยการมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและการศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาขั้นตอนและกระบวนการผลิต ยกระดับฐานการผลิต ติดตั้งเครื่องจักรเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการลงทุนในระบบบริหารจัดการการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปคลังสินค้าอัตโนมัติ พร้อมมุ่งบริหารจัดการวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3) การให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
โดยสร้างวัฒนธรรมองค์กรปลูกฝังความรู้ให้กับบุคลากร สนับสนุนกิจกรรมชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainability Brand)
ด้านณิศรา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ NEO กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอยู่เสมอ โดยทีมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ NEO มีความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในธุรกิจสินค้าอุปโภค สามารถมองเทรนด์ของตลาด และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับทุกคน และช่วยเพิ่มคุณค่าให้แต่ละผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 229,296 ตันต่อปี (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) เพิ่มขึ้นร้อยละ20.86% ต่อปี จากเดิมที่ 142,800 ตันต่อปี ในปี 2563
อีกทั้งบริษัทฯ มีการลงทุนในอาคารและระบบคลังจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval Systems: ASRS) เพื่อรองรับแผนการเติบโตในอนาคต โดยปัจจุบันสามารถจัดเก็บสินค้าได้ 35,000 พาเ]ทและกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและระบบคลังสินค้าอัตโนมัติรองรับการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปประมาณ10,700 พาเลท โดยคาดว่าสามารถเปิดดำเนินการได้ไตรมาสที่ 4 ปี 2566