รมช.คลัง เผยนายกฯ สั่งจริงจัง ให้ ก.ล.ต. และ ตลท. ยกมาตรการฐานตัวเอง ปราบปรามเอาผิดลงทุนหุ้นปั่นให้มากนี้ เพราะมีกรณีทำให้นักลงทุนเสียหายต่อเนื่อง
นายกฤษฎา จีนะวิจารนะ รมช.คลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง เข้มงวดในการดูแลตลาดทุน หรือ ตลาดหุ้นให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องมีความเข้มงวดมากกว่านี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดกรณีนักลงทุนได้รับความเสียหายการลงทุน บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) และ บมจ.สตาร์คคอร์เปอเรชั่น (STARK) ซึ่งไม่ทราบว่าปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่ ก.ล.ต. มีหน้าที่ต้องปกป้องนักลงทุนให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ตอนนี้บริษัทที่นำเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นใหม่ ส่วนใหญ่มีราคาต่ำกว่าจองหมดเลย ซึ่งไม่รู้ว่า ก.ล.ต.ปล่อยให้เป็นไปได้อย่างไร ทำไมถึงให้ที่ปรึกษาทางการเงิน และตัวแทนจำหน่ายหุ้น กำหนดราคากันแบบที่ผ่านมาได้อย่างไร
นายกฤษฎา กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขและต้องเป็นการเร่งด่วน คือ ให้ ก.ล.ต. ตั้งหน่วยงานปราบปรามขึ้นมาซึ่งอยู่ระหว่างการแก้กฎหมายให้ดำเนินการได้ ไม่ใช่เป็นอยู่ปัจบันเกิดปัญหาแล้วก็ไปร้องให้หน่วยอื่น เข้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปดำเนินการ ซึ่งล่าช้าไม่ทันการที่หยุดความเสียหายของนักลงทุน รวมถึงเอาผิดผู้กระทำผิดได้
“ ก.ลต. ต้องปราบปรามเรื่องหุ้นเอง เพราะรู้ดีมีข้อมูลตั้งแต่ต้นจะได้เข้าไปรวดเร็ว เป็นคนเข้าไปควบคุมเอาผิดเอง วันนี้ท่านนายกฯ มีนโยบายชัดเจนให้ป้องกันเรื่องการทำมาหากินกันโดยมิดีมิร้ายในตลาดตลาดหลักทรัพย์ เพราะตลาดทุนเป็นตลาดที่สำคัญของประเทศพอๆ กับตลาดเงิน” นายกฤษฎา กล่าว
รมช.คลัง กล่าวว่า เชือมั่นเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่สามารถดำเนินการได้เพราะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับตลาดทุน เพราะอยู่ในคณะกรรมการต่างๆ ของ ก.ล.ต. มานานกว่า 10 ปีแล้วและมีความตั้งใจทำงานในการยกระดับพัฒนาตลาดทุนให้เป็นระบบมีความน่าเชื่อถือ
นายกฤษฎา กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้เป็นข้อสั่งการของนายกฯ ที่จะให้ ก.ล.ต.ตั้งหน่วยปราบปรามเอาผิด เอามาถูกลงโทษ สำหรับคนที่มีปัญหาในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายให้มีอำนาจในการเข้าไปปราบปรามดำเนินการเอาผิดเองโดยไม่ต้องส่งเรื่องไปดีเอสไอ
ยกตัวอย่างกรณีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอำนาจเข้าไปควบคุมสถาบันการเงินที่มีปัญหาชัดเจน ทั้งการยึดเอกสาร ส่งคนเข้าไปควบคุมกิจการ เมื่อเกิดปัญหาอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ก.ล.ต. ก็ต้องทำเช่นเดี๋ยวกับ ธปท. เพราะปัจจุบันการการเคลื่อนย้ายเงินทุนรวดเร็ว เวลามีปัญหาเจ้าของโอนเงินออกนอกประเทศ และหนีไป ก.ล.ต. ดำเนินการแก้ไขไม่ทัน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังต้องกำกับดูแล ที่ปรึกษาการเงิน และผู้แทนจัดจำหน่ายหุ้น เข้มงวดมากกว่านี้ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจ ในการกำหนดราคาซื้อขายหุ้นที่เข้าตลาดใหม่ให้มากที่สุด ไม่ให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บริษัทที่เข้าไปจดทะเบียนตลาดต้องมีคุณภาพดี ไม่เกิดการทุจริต ทำให้นักลงทุนเกิดความเสียหาย
รมช.คลัง กล่าวว่า นอกจาก ก.ล.ต. แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลหุ้นเช่นกัน เพราะอยู่ใกล้ชิดข้อมูลการซื้อขายรายวัน ต้องมีการเตือนให้เร็วกว่านี้ ที่ผ่านมาตลาดยังดำเนินการช้าเกินไป ส่วนหนึ่งอาจมาจากโครงสร้างของ ตลท. ที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุนกันเอง ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการที่แต่งตั้งคณะกรรมการ ตลท.ให้มีความเหมาะสมในการกำกับดูแลนโยบาย ต้องเลือกคนดี ไม่เช่นนั้นภาพที่ออกมา เหมือนเป็นการส่งคนกลุ่มตัวเองไปนั่งอยู่ใน ตลท.