ตลาดเงิน/ทุน ส่งท้ายปี66 บาทแข็ง-หุ้นไทยปิดบวก ภาพรวมทั้งปี บาทผันผวน SET หด 15.15%

ตลาดเงิน/ทุน ส่งท้ายปี66  บาทแข็ง-หุ้นไทยปิดบวก  ภาพรวมทั้งปี บาทผันผวน SET หด 15.15%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน นักลงทุนต่างชาติหวนซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย ดัชนีหุ้น ปรับขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ ได้แรงหนุนจากคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566

โดยเงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จากกระแสการคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ในปี 2567 หลังจากที่ดัชนีราคา PCE Price Index และ Core PCE Price Index ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดในเดือนพ.ย.

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติด้วยเช่นกัน

ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ธ.ค.)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-28 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 3,175 ล้านบาท และ 4,651 ล้านบาทตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในปี 2566 นั้น เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในกรอบ 32.57- 37.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะปิดตลาด ณ สิ้นปี 2566 ที่ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น 1.3% จากระดับปิดสิ้นปี 2565 ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปีท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ และโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงหลังข้อมูลเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟด ซึ่งทำให้เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนถึงรอบการประชุม FOMC เดือนก.ค. 2566

ประกอบกับเริ่มมีความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมืองในประเทศและจังหวะการฟื้นตัว ที่ล่าช้าของเศรษฐกิจไทย เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดแล้วที่ 5.25-5.50% และมีโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงในปี2567

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน

สัปดาห์ถัดไป (2-5 ม.ค. 2567)

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. 66 ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนแรงงานเดือนพ.ย. 66 บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 66

และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. 66 ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของยูโรโซนเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปิดบวก และยังยืนเหนือ 1,400 จุดได้ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นในภาพรวม โดยมีแรงหนุนจากคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567 ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย. 2566 ของไทยที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตลอดจนแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ รวมถึงการทำ Window Dressing ช่วงปลายปี

อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนก่อนวันหยุดช่วงปีใหม่ ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง

อนึ่ง หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์ สวนทางภาพรวมตลาด เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบจากเกณฑ์การปล่อย สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมที่จะเริ่มในช่วง ต้นปี 2567 

ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค. 2566 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,415.85 จุด เพิ่มขึ้น 0.77% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 35,725.20 ล้านบาท ลดลง 0.43% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.61% มาปิดที่ระดับ 411.61 จุด

สำหรับภาพรวมในปี 2566 นั้น ดัชนี SET ลดลง 15.15% มาปิดสิ้นปี 2566 ที่ระดับ 1,415.85 จุด จากระดับ 1,668.66 จุด ณ สิ้นปี 2565

โดยตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นปีท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ สถานการณ์การเมืองในประเทศ

ประเด็นความตึงเครียดในอิสราเอล การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจในประเทศ โดยดัชนี SET แตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ระดับ 1,354.73 จุด ในช่วงประมาณกลางเดือนธ.ค. ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายปี รับสัญญาณจากเฟดซึ่งบ่งชี้ว่า วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ได้จบลงแล้ว และอาจมีการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-5 ม.ค. 2567) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,380 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของยูโรโซน

TAGS: #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #เงินบาท #หุ้นไทย