GPSC แจ้งผลกำไรสุทธิปี 2566 รวมทั้งสิ้น 3,694 ล้านบาท จากการสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิต ควบคู่กับการดำเนินงานด้าน Synergy และควบคุมค่าใช้จ่าย
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,803 ล้านบาท หรือ 314% จากปีก่อนหน้า จากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตที่มุ่งเน้นการเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) อยู่ในระดับที่ดี และผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยค่าไฟฟ้าที่สามารถสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ ประกอบกับในปีนี้ บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำลง (OPEX Saving Program) และจากความมุ่งมั่นในการขยายการลงทุนส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจ Solar platform จาก บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (AEPL) ในประเทศอินเดีย มากกว่า 300 ล้านบาทจากโครงการที่เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2566 AEPL สามารถชนะประมูลกำลังการผลิตใหม่ได้มากกว่า 5 กิกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อแผนการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าภายในประเทศซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตหรือ Optimization และการบริหารจัดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและจัดลำดับการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเป็นอันดับแรกหรือ merit order เพื่อบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังมุ่งเน้นการดำเนินการด้าน Synergy อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีรายได้รวม 18,319 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 478 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 209% โดยมีปัจจัยหลักมาจากค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนพลังงานได้ดีขึ้น ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการรับรู้รายได้บางส่วนจากเงินชดเชยค่าประกันภัยของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน และโรงไฟฟ้าศรีราชา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 (QoQ) กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 73% สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานในส่วนของ SPP ลดลง ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมลดลงจากลูกค้าอุตสาหกรรมบางส่วนหยุดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 4/2566 ขณะที่เงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลงตามปัจจัยทางด้านฤดูกาล อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang และ Xidao (CFXD) ไต้หวัน เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่สูงขึ้นเต็มไตรมาสของกังหันลมทั้งหมด 12 ต้น
นายวรวัฒน์กล่าวว่า GPSC ยังคงแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานโลก สะท้อนความสำเร็จจากการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ที่ได้มีการลงทุนตามแผนการขยายกำลังการผลิตร่วมกับกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ในประเทศอินเดีย ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เร็วกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา AEPL ชนะการประมูลเสนอขายไฟฟ้ารวมจำนวน 5,161 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบัน AEPL มีกำลังการผลิตตามแผนงานทั้งสิ้นสูงถึง 9,525 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 3,990 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตส่วนที่เหลือมีแผนการดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567-2569
สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน GPSC ได้ร่วมเปิดโรงงานและผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) ถือหุ้นร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) ณ สวนอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค 2 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบและจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาด และพร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปีในอนาคต ซี่งสอดรับกับกลยุทธ์ในการสนับสนุนธุรกิจแบตเตอรี่ของบริษัทฯ และกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ของกลุ่ม ปตท.
ทั้งนี้ ในปี 2567 ยังคงต้องจับตามองปัจจัยความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อาจส่งผลต่อทิศทางราคาพลังงานโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจนวัตกรรมอื่นๆ ทั้งในประเทศและประเทศเป้าหมาย โดยมุ่งแสวงหาโอกาสและการต่อยอดในธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery pack and cell) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) รวมทั้ง ระบบปริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) เพื่อสอดรับกับกลยุทธ์ของบริษัทในการเติบโตอย่างยั่งยืน