ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 เดือน ส่วนหุ้นไทยปิดลดลง 0.36% จากสัปดาห์ก่อน มองต่อไปในสัปดาห์หน้าติดตามตัวเลขส่งออกเดือนก.พ.ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 36.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับภาพรวมการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้แรงหนุนในช่วงก่อนการประชุมเฟด ซึ่งถูกคาดหมายว่าอาจมีการปรับทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ และมุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
นอกจากนี้เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามค่าเงินเยน หลังผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาด (ทั้งในส่วนของการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นมาที่กรอบ 0.0-0.1% การยุติ Yield Curve Control
และการยกเลิกการเข้าซื้อ ETFs และ J-REITs) ขณะที่สัญญาณจากผู้ว่าการ BOJ สะท้อนว่า BOJ จะยังไม่ปรับท่าทีไปในเชิงคุมเข้มทันทีในระยะเวลาอันใกล้นี้
เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ หลังผลการประชุมเฟด ซึ่งแม้เฟดจะมีการปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ตามคาดแต่มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายผ่าน Dot plot ยังคงสะท้อนโอกาสของการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งไว้ตามเดิม
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของของธนาคารกลางอื่นๆ อาทิ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ที่ปรับลดดอกเบี้ยเหนือการคาดการณ์ของตลาด และธนาคารกลางอังกฤษที่ส่งสัญญาณว่าอาจมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. 2567 เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 36.48 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 มี.ค.67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 18-22 มี.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 37,762 ล้านบาท และ 15,497 ล้านบาท ตามลำดับ
สัปดาห์ถัดไป (25-29 มี.ค.)
ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.00-36.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.พ. ของไทย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนก.พ. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (final)
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของอังกฤษด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายอย่างหนักจากนักลงทุนต่างชาติ หุ้นไทยปรับตัวลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ในระหว่างรอติดตามผลการประชุมเฟด โดยหุ้นที่เผชิญแรงเทขายหลักๆ เป็นหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มพลังงานจากปัจจัยเฉพาะของแต่ละบริษัท แต่หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ในช่วงต่อมาสอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคหลังผลการประชุมเฟด ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ว่ายังมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ตามมุมมองเดิมในช่วงการประชุม FOMC เดือนธ.ค. 2566
อย่างไรก็ดี หุ้นไทยกลับมาเผชิญแรงขายอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติกลับมามีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง อนึ่ง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยในสัปดาห์ 18-22 มี.ค. 2567 เป็นมูลค่ามากถึง 37,762 ล้านบาทในวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ1,381.04 จุด ลดลง 0.36% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน
ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,817.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.50% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.83% มาปิดที่ระดับ 415.28 จุด
สัปดาห์ถัดไป (25-29 มี.ค.)
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,390 และ 1,400 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.พ. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีน ตลอดจนยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ของญี่ปุ่น