ACE จ่อประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 ดันพอร์ตแตะ 700 เมกะวัตต์ จับเทรนด์ธุรกิจค้าคาร์บอน Net Zero Solutions ตอบโจทย์ภาคเอกชนใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในระยะ 4 ปี ข้างหน้า จะใช้งบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สร้างการเติบโตขององค์กร
ปัจจุบัน ACE มีโครงการโรงไฟฟ้ารวม 88 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 602.29 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 23 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 277.57 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 65 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 324.72 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ปี 2567 ยังมีโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยเปิด COD เพิ่มเติม ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญา PPA 35 เมกะวัตต์ แต่สามารถติดตั้งได้ 70 เมกะวัตต์ คาดว่าจะCOD ช่วงไตรมาส 4 อีกทั้ง ขณะที่ในปี 2568 จะมีโครงการที่ทยอยCOD อีก 10 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญา PPA 57.33 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังก่อสร้าง จำนวน 8 แห่ง ให้เป็นโรงไฟฟ้า New Gen ด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบ AI มาช่วยออกแบบพัฒนาประสิทธิภาพเรื่อง Machine detect ตรวจจับวัดเปอร์เซ็นต์การเผาไหม้วัตถุดิบ พร้อมส่งสัญญาณแจ้งเตือนกรณีเกิด overburn หรือ unburn แบบเรียลไทม์ เพื่อลดต้นทุนด้านการ Operation และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงได้ในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น และโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถใช้เชื้อเพลิงได้กว่า 60 ชนิด ซึ่งมากกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลในแถบอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป โดยคาดว่า โรงไฟฟ้า New Gen จะทยอยแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม หากแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าต่างๆบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกือบแตะ 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นเท่าตัว จากผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทสามารถทำรายได้จากการขายและบริการรวม 6,583 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 มั่นใจว่า รายได้จะเติบโตขึ้นจากปี 2566 เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอย COD เพิ่มขึ้นรวมประมาณ 90 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกัน บริษัทยังรอลุ้นผลการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) อีกหลายโครงการ ที่คาดว่าจะทยอยประกาศผลผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้ รวมถึงยังรอเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ ทั้งโครงการพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ระยะที่สอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ตลอดจนโรงไฟฟ้าชุมชน เฟส 2 และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดโอกาสลงทุนในต่างประเทศ แต่คงต้องพิจารณาความคุ้มค่าอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ
นายธนะชัย กล่าวว่า ขณะนี้ให้ความสนใจกับธุรกิจใหม่การเป็นผู้ให้บริการ Net Zero Solutions ครบวงจรแบบ One Stop service อาทิ คาร์บอนเครดิต และใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ที่จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ต่างมีความต้องการใช้ REC เพื่อเป็นเครื่องหมายการรันตีว่ามีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน และสนับสนุนให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าของ ACE สามารถผลิต REC ได้ประมาณ 1 ล้าน REC ต่อปี และในอนาคตหากโรงไฟฟ้าชีวมวลต่างๆ สามารถเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ตามแผนงานเรียบร้อยแล้ว อาจเพิ่มได้ถึงระดับ 2 ล้าน REC ต่อปี โดยในส่วนนี้จะสามารถนำไปขายให้กับผู้ต้องการ REC เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษทในอนาคตได้
นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมด้านบริการให้คำปรึกษา หรือ รับดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยลด CO2 ให้กับภาคธุรกิจ อาทิ การให้บริการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างทำ Pilot Project ทั้งการวิจัยพัฒนาพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศ ทนต่อโรค พร้อมทดลองปลูกในพื้นที่จำนวน 200 ไร่ที่จังหวัดพะเยา เพื่อมองหารูปแบบและปัจจัยที่เหมาะสม สำหรับลูกค้าเป้าหมายเบื้องต้นมองไว้ที่กลุ่มบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศไทย โดย ACE มีบริษัทในกลุ่มที่สามารถพัฒนาต้นกล้าไม้ได้สูงสุดถึง 30 ล้านต้นต่อปี