‘จิตตะ เวลธ์’ มองสหรัฐฯ ปิด SVB กระทบจำกัด เหตุธีมหุ้นสหรัฐฯ กระจายลงทุนในหุ้นกว่า 700 ตัว
นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (บลจ.) เปิดเผยถึงวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ ว่า การปิดธนาคาร SVB และธนาคาร Silvergate ย่อมสร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญเพราะภาคธนาคารมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นทางการสหรัฐฯ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือทันทีในคืนวันอาทิตย์ของสหรัฐหรือช่วงเช้าของประเทศไทย ทำให้โอกาสการลุกลามของปัญหานี้อยู่ในวงจำกัด ต่างจากกรณีการล้มของ Lehman Brothers ในปี 2008 และมาตรการที่ออกมาอย่างรวดเร็วจะเข้ามาเสริมความเชื่อมั่นของลูกค้าว่าหากเกิดเหตุการณ์แบงก์ขาดสภาพคล่องไม่สามารถจ่ายคืนเงินฝากได้ กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อให้แบงก์ยังคงดำเนินการถอนคืนเงินฝากได้ตามปกติ ลดโอกาสเกิดปัญหา Bank Run ได้
ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ออกมาตรการช่วยเหลือจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลสภาพคล่องของธนาคาร โดยกองทุนสามารถช่วยเหลือธนาคารที่มีปัญหาดังกล่าวในอนาคตได้ กองทุนพิเศษนี้จะช่วยให้ลูกค้าธนาคารได้รับเงินเงินฝากคืนได้ทั้งหมด ควบคุมผลกระทบในวงจำกัด ทำให้บริษัทที่ฝากเงินกับธนาคารเหล่านี้สามารถถอนเงินนำไปใช้ในการดำเนินกิจการปกติได้
แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากธุรกรรมเงินฝากแล้ว บริษัทที่มีธุรกรรมกับธนาคารในด้านอื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันทางการสหรัฐฯ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อขายสินทรัพย์ของธนาคาร และเปิดโอกาสในการเข้าซื้อธนาคารจากทุนต่างชาติ เมื่อการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ เสร็จสิ้น ธุรกรรมด้านอื่นๆ จะกลับมาดำเนินการได้ตามปกต
ในส่วนของบลจ.จิตตะ เวลธ์ ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับพอร์ตการลงทุน Jitta Wealth อยู่บ้าง เช่น ธีมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร แต่มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการกระจายการลงทุนกว่า 700 บริษัท ส่วนนโยบายการลงทุนอื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะบริษัทเทคที่มีเงินฝากและธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารที่มีปัญหา แต่ด้วยมาตรการช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ เรามองว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
นายตราวุทธิ์ กล่าวว่า ในตลาดการเงิน นักลงทุนมีโอกาสเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตได้ทุกเมื่อ เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงิน แต่สิ่งสำคัญคือการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ ลงทุนบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีระเบียบทางด้านการเงินและมีความสามารถทางการแข่งขัน เพราะบริษัทเหล่านี้จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้เจอสถานการณ์ที่ผันผวน
นอกจากนี้การกระจายความเสี่ยงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญ ช่วยสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวอย่างยั่งยืน
สำหรับวิกฤต SVB เกิดจากลูกค้าแห่ถอนเงินหลังจากธนาคารมีแนวโน้มเกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง ซึ่งเกิดมาจากการขาดทุนจากตราสารหนี้ที่ถือครองรวมไปถึงการประกาศเพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก
ส่วน Silvergate เป็นธนาคารที่มีธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก การล้มของตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน FTX และปัญหาเกี่ยวกับเหรียญต่างๆ ในโลกคริปโทเคอร์เรนซีส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ โดยไตรมาสล่าสุด Silvergate ต้องขายสินทรัพย์ลงทุนในราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งส่งผลให้ธนาคารบันทึกขาดทุนจากการขายสินทรัพย์สูงถึง 886 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบันทึกขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 937 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ Silvergate ต้องประกาศยุติการดำเนินกิจการและขายสินทรัพย์เพื่อใช้หนี้ทั้งหมด
ปัญหาของสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งนี้นี้เกิดจากการบริหารสภาพคล่องที่ไม่เหมาะสมและธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น FED อาจตั้งกฎระเบียบใหม่ในการจัดการสภาพคล่องอย่างเหมาะสมของภาคธนาคาร รวมไปถึงแนวทางการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนสูง
“สัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นร่วงหนัก โดยเฉพาะ Nasdaq ปรับร่วงกว่า 4.71% แต่เช้าวันที่ 13 มีนาคม ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสหรัฐปรับขึ้นถ้วนหน้า หลังจากทางการสหรัฐฯ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วของ FED ดังนั้น FED อาจจะต้องทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันตลาดได้คาดการณ์ว่า FED อาจปรับลดความร้อนแรงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ส่งผลดีต่อ Sentiment การลงทุน”