ตลาดเงิน/ทุน 22-26 เม.ย. บาทอ่อนสุด 6 เดือนครึ่ง หุ้นไทยขยับ 2.09% จากปลายสัปดาห์ก่อน

ตลาดเงิน/ทุน 22-26 เม.ย. บาทอ่อนสุด 6 เดือนครึ่ง  หุ้นไทยขยับ 2.09% จากปลายสัปดาห์ก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทอ่อนค่ากว่าระดับปิดสัปดาห์ก่อน แต่หุ้นไทยปิดบวกตามแรงซื้อต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนครึ่งที่ 37.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลกตลอดจนการอ่อนค่าของเงินเยนและเงินหยวน

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯมีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯทรงตัวที่ระดับสูงต่อไปอีกระยะ

อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่ข้อมูลเบื้องต้นของดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ปรับตัวลงมาที่ 50.9 ในเดือนเม.ย.(ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้) ประกอบกับเงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์จากการดีดตัวกลับขึ้นอีกครั้งของราคาทองคำในตลาดโลก

เงินบาทอ่อนค่ากว่าระดับปิดสัปดาห์ก่อน แต่หุ้นไทยปิดบวกตามแรงซื้อต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน อนึ่ง สกุลเงินในฝั่งเอเชียผันผวนในกรอบอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย เงินเยน ซึ่งทำสถิติอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2533 หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยนโยบายและการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นไว้ตามเดิม

ในวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. 2567

เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.93 บาทต่อดอลลาร์ฯหลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนครึ่งที่ 37.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 36.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 เม.ย. 67)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. 2567 นั้นนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 3,121 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,974 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 993 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,981 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (29 เม.ย.-3 พ.ค.)

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.70-37.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC (30 เม.ย.-1 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขการส่งออกไทยเดือนมี.ค. การเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตรการว่างงานเดือนเม.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนมี.ค.และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย. ของจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของยูโรโซน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปิดบวกหลังร่วงลงแรงในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่จุดสนใจของนักลงทุนกลับมาอยู่ที่การประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย

หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ต้นสัปดาห์ (หลังจากร่วงลงแรงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี 5 เดือนในสัปดาห์ก่อน) ท่ามกลางแรงซื้อหลักๆจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม

นำโดย กลุ่มแบงก์ซึ่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ออกมาค่อนข้างดี กลุ่มไฟแนนซ์ก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ตลอดจนกลุ่มโรงพยาบาล หลังผู้ประกอบการโรงพยาบาลรายใหญ่แห่งหนึ่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ดีกว่าคาด

อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากขยับขึ้นติดต่อกันหลายวันทำการและตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควรแล้ว

โดยจุดสนใจของตลาดยังอยู่ที่การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/267 ของบจ. ไทยรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core Price Index เดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. 2567

ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,359.94 จุด เพิ่มขึ้น 2.09% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,000.23 ล้านบาท ลดลง 27.60% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.27% มาปิดที่ระดับ 391.21 จุด

สัปดาห์ถัดไป (29 เม.ย.-3 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,350 และ 1,335 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,370 และ 1,385 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (30 เม.ย.-1 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนเม.ย.รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย.ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน

TAGS: #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #เงินบาท #หุ้นไทย