“สมโภชน์ - อมร” บิ๊ก EA ชิงลาออก ขอพิสูจน์ไม่ได้ทุจริตตามที่ ก.ล.ต. กล่าวหา

“สมโภชน์ - อมร” บิ๊ก EA ชิงลาออก ขอพิสูจน์ไม่ได้ทุจริตตามที่ ก.ล.ต. กล่าวหา
บิ๊ก EA “สมโภชน์ - อมร” แถลงการณ์ ชิงลาออก หลัง ก.ล.ต. กล่าวโทษทุจริต ยืนยันพร้อมต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ได้ทุจริต 3,465 ล้านบาท ตามที่ ก.ล.ต. กล่าวหา

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหาร เพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ มั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการสอบสวน 

กรณีเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลำปาง ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกันทำทุจริต เพราะกระบวนการในการจัดจ้างผู้รับเหมาเป็นการคัดเลือกผ่านมติคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นการรับเหมาแบบทั้งโครงการ  (Turn Key) มีการทำสัญญาก่อสร้างแบบ Engineering Procurement and Construction Contract (EPC) โดยผู้รับเหมาเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ ก่อสร้างและติดตั้งระบบงานต่างๆของโครงการทั้งหมด การจัดซื้ออุปกรณ์เป็นหน้าที่และเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้รับเหมาไม่ได้เป็นการตัดสินใจของบริษัท ของสมโภชน์ หรือของอมร โดยผู้รับเหมาจะได้รับรายละเอียดของโครงการรวมทั้งรายการอุปกรณ์ที่ต้องไปจัดหา โดยกำหนดยี่ห้อของแต่ละอุปกรณ์มากกว่า 1 ยี่ห้อ แล้วให้ผู้รับเหมาไปตัดสินใจเลือกซื้อเอง ทั้งนี้การกำหนด specification ของอุปกรณ์หลักต้องได้รับการอนุมัติโดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการที่แต่งตั้งโดยสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับโลกที่มีความเป็นอิสระไม่สามารถชี้นำหรือควบคุมได้ โดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการยังได้ให้ความเห็นว่าค่าก่อสร้างของโครงการเหมาะสมเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆในช่วงเวลานั้น อย่างที่เห็นประจักษ์แล้วว่า ต้นทุนการก่อสร้างโครงการบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าก่อสร้างของโครงการลักษณะคล้ายกันของบริษัทอื่นๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกัน โครงการของอีเอก็มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงสุด จนทำให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) สูงสุด

อย่างไรก็ตาม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษมานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฏหมาย ยังไม่ได้ถือว่าขณะนี้นายสมโภชน์และนายอมรเป็นบุคคลผู้กระทำผิด และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556 –2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท 

การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อ ปปง. อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในการรวบรวมเอกสารหลักฐานในคดีดังกล่าว ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือและได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานกำกับดูแลของต่างประเทศหลายแห่ง 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เหตุที่ใช้เวลาดำเนินการนาน เพราะ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2559 และได้ตั้งประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกันหลายมาตรา มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ และมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมากในแต่ละประเด็น นอกจากนี้ ตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม ทั้งกรณีการเรียกมาสอบถ้อยคำและการให้ชี้แจงเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้ประสานหน่วยงานกำกับในต่างประเทศหลายแห่งและได้ความร่วมมือรวมเป็นอย่างดี

คดีนี้มีอายุความกี่ปีนั้น การกระทำความผิดเกิดในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ต่อเนื่องกัน โดยกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 311 ซึ่งมีอายุความ 15 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2573 (นับแต่ปี 2558) 

ส่วนกรณีความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 มีอายุความ 10 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2568 (นับแต่ปี 2558) 

สาเหตุเหตุใดกรณีนี้จึงดำเนินคดีทางอาญา เพราะกรณีเป็นความผิดทุจริตมาตรา 311 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ (มาตรา 311 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ไม่ได้รวมอยู่ในมาตรา 317/1)

นอกจากนี้ การกล่าวโทษในกรณีนี้ มีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท https://publish.sec.or.th/nrs/7200s.pdf

สำหรับโทษสูงสุดตามกฎหมายในกรณีนี้กรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีโทษตามมาตรา 313 คือ ระวางโทษจำคุก 5 – 10 ปี และปรับเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืน  

กรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้สนับสนุนมีโทษตามมาตรา 311 ตามความในมาตรา 315 ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 313 เนื่องจากไม่ได้เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน ตาม พรบ.หลักทรัพย์

ทั้งรี้ ก.ล.ต. ได้รับเบาะแสการกระทำผิด หรือ มีจุดเริ่มต้นของการดำเนินการจากที่ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า EA อาจมีการทุจริตผ่านบริษัทย่อยในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2  แห่ง พร้อมส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องบางส่วน จึงได้ตรวจสอบหาความจริงและความถูกต้องเป็นไปตามข้อร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผ่านหน่วยงาน ก.ล.ต. หลายประเทศ พบว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดจริง จึงได้กล่าวโทษ

หลังจากที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษแล้วต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว และในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษาต่อไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ พื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

TAGS: #EA