ตลาดเงินทุน/ทุน 12-16 ส.ค. บาทแข็ง-หุ้นเหนือ 1,300 จุด จาก 2 เหตุการณ์ ปลดและได้นายกฯไทยคนใหม่  

ตลาดเงินทุน/ทุน 12-16 ส.ค.  บาทแข็ง-หุ้นเหนือ 1,300 จุด  จาก 2 เหตุการณ์ ปลดและได้นายกฯไทยคนใหม่  
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือน ส่วนหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,300จุดได้ ในช่วงปลายสัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วน หลังตัวเลข เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 35.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ จากกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 25 basis points ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกก็เพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามประเด็นทางการเมืองในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้ตลาดลดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟด ปรับลดดอกเบี้ยมากกว่า 25 basis points ในการประชุม FOMC เดือนก.ย.นี้

ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-16 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 429.8 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 27,923 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 26,823 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,100 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (19-23 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ ระดับ 34.85-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทย ผลการประชุมกนง. ประเด็นทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยจากประธานเฟดจากงานสัมมนาประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ เช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในระหว่างสัปดาห์จากประเด็นการเมืองในประเทศ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์

หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงแรก แต่ร่วงลงช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายกรัฐมนตรีส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ และเทขายหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกจากความกังวลว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอาจมีการเปลี่ยนแปลงและล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับมีแรงหนุนจากประเด็นการเมืองในประเทศเพิ่มเติม หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้ช่วงท้ายสัปดาห์มีแรงซื้อคืนหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์

ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,303.00 จุด เพิ่มขึ้น 0.46% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน

ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,752.59 ล้านบาท ลดลง 1.20% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.50% มาปิดที่ระดับ 316.67 จุด

สัปดาห์ถัดไป (19-23 ส.ค.)

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,310 และ 1,330 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทย การประชุมกนง.

สุนทรพจน์ของประธานเฟดในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ดัชนี PMI เดือนส.ค. ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนส.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนี PMI เดือนส.ค.ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ

TAGS: #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #ตลาดเงิน #ตลาดทุน