กรุงไทย จับมือ ปตท. ทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต

กรุงไทย จับมือ ปตท. ทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต
ครั้งแรกในไทย “กรุงไทย” ผนึก “ปตท.” ทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต นวัตกรรมใหม่ตลาดทุน ตอบโจทย์องค์กรปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

 

รวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ United Nations Development Programme (UNDP) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้บริโภค และธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ 

โดยล่าสุดธนาคารลงนามบันทึกข้อตกลงกับ ปตท. และ บริษัท PTTT ประเทศสิงคโปร์ ในการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (Derivatives) ที่เชื่อมโยงกับคาร์บอนเครดิต  (Carbon Credit Linked Derivatives) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG

ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาและการเป็นผู้นำตลาด ESG Financial Solution ของธนาคาร ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

“ธนาคารยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมด้านตลาดทุน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตอบโจทย์โลกธุรกิจยุคใหม่ที่มีความผันผวน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เสริมศักยภาพธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” 

พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนอันเนื่องมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อและนโยบายการบริหารจัดการดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ ปตท. มีนโยบายการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนทางการเงินด้วยวิธี Natural Hedge

รวมทั้ง มีการใช้เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงเมื่อมีจังหวะและสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยธุรกรรมนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของตลาดทุนเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทางการเงินให้กับองค์กรตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนให้ทั้ง 3 องค์กรมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

“การลงนามบันทึกข้อตกลง Carbon Credit Linked Derivatives ระหว่างธนาคารกรุงไทย ปตท. และ PTTT ในครั้งนี้ จะมีส่วนสนับสนุนกลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” ของ ปตท. ที่ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2040 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต ค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem ในประเทศ

รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน  ตลอดจนเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2030 อีกด้วย”

ด้านพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า PTT International Trading Pte Ltd (PTTT) ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. เป็นผู้นำในการพัฒนาและมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจการค้าคาร์บอนเครดิต ทั้งในรูปแบบ Over The Counter และตลาด Exchange ทำให้สามารถเข้าถึงและขยายขอบเขตการค้าคาร์บอนเครดิตได้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงในธุรกรรมครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาตลาดสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินหรือผลิตภัณฑ์ทางการค้าอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มุ่งมั่นและพร้อมเป็นกำลังสำคัญร่วมกับองค์กรต่างๆ ในการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระดับประเทศต่อไป

 

 

TAGS: #กรุงไทย #ปตท #KTB #PTT