ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทแข็งค่าต้นสัปดาห์ จากจีดีพีไทยไตรมาส3-ราคาทองคำโลกปรับขึ้น ขณะที่หุ้นไทยปิดบวกได้เล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ-นักลงทุนคลายกังวลการเมือง
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแข็งค่ากลับมาตามการฟื้นตัวของราคาทองคำในตลาดโลก เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3/2567ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขายทำกำไรและปรับโพสิชั่นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ เงินบาทลดช่วงบวกบางส่วนลงในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวกลับมา เนื่องจากตลาดเปลี่ยนจุดสนใจกลับมารอประเมินนโยบาย และมาตรการต่างๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ดีเงินบาทแข็งค่ากลับมาอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน
ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 พ.ย. 67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 907 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,330 ล้านบาท (แบ่งเป็นซื้อสุทธิพันธบัตร 91 ล้านบาทหักด้วยตราสารหนี้หมดอายุ 1,421 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ ระดับ 34.40-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค. ของไทย รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติสกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ดัชนีราคา PCE/Core PCE ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนต.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 (ครั้งที่ 2) ข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 6-7 พ.ย.
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรม เดือนต.ค.ของจีน และอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย.ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยพลิกกลับมาปิดบวกได้ในช่วงท้ายสัปดาห์ แม้จะร่วงลงแรงระหว่างสัปดาห์ ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ขานรับปัจจัยบวก ทั้งรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของไทยที่ขยายตัว 3.0% YoY ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาด และรายงานข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งหนุนแรงซื้อหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมนำโดย กลุ่มพลังงาน เทคโนโลยี และแบงก์
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในเวลาต่อมา โดยเผชิญแรงขายหลักๆ จากหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งหลังเข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 แม้จะมีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปอื่นๆ เข้ามาประคองตลาดก็ตาม ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ประกอบกับนักลงทุนน่าจะคลายความกังวลต่อประเด็นการเมืองในประเทศลงในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,446.30 จุด เพิ่มขึ้น 0.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,316.10 ล้านบาทลดลง 12.71% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.30% มาปิดที่ระดับ 322.57 จุด
สัปดาห์ถัดไป (25-29 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,415จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนต.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ยอดขายบ้านใหม่ ดัชนี PCE/Core PCE Price Index รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น