ไทยออยล์ถือแต้มต่อ เตรียมจบปัญหา UJV ต้นปี’68

ไทยออยล์ถือแต้มต่อ เตรียมจบปัญหา UJV ต้นปี’68
‘ไทยออยล์’ ปลดล็อกปมร้อนโครงการพลังงานสะอาดหรือ CFP มั่นใจเสร็จตามแผน  เปิดทางเลือกหาผู้รับเหมารายใหม่แทน หวังให้โครงการเดินหน้า

ปัญหาการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด(Clean Fuel Project หรือ CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(หมาชน) มูลค่า 5,375 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ที่มีความล่าช้าจากปัญหาผู้รับเหมาหลัก(กิจการร่วมค้าระหว่าง Samsung E&A Thailand,Petrofac South East

Asia และ Saipem Singapore หรือ UJV : amsung,Petrofac และ Saipem)ค้างจ่ายค่าตอบแทนผู้รับเหมาช่วงคนไทย จนเกิดการประท้วงนัดหยุดงานจนกลายเป็นข่าวใหญ่ ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นความผิดพลาดของไทยออยล์ใน 2 ประเด็นหลัก

1.การคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาที่ไม่มีศักยภาพ แต่ในข้อเท็จจริงกิจการร่วมค้า UJV เป็นกลุ่มบริษัทระดับชาติที่มีบริษัทแม่เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและผ่านกระบวนการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การตลาด งานวิศวกรรม การดำเนินงาน โดยมีการแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์อิสระเข้ามาเฝ้าติดตามกระบวนการประกวดราคาในทุกขั้นตอน  การยื่นซองเทคนิค ยื่นซองเงื่อนไข และการยื่นซองราคา

นอกจากนี้ยังมีที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมาตรวจสอบอย่างละเอียด จนโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียง 99.91%

คำถามคือถ้า UJV มีศักยภาพจริงทำไมจึงเกิดปัญหาเบี้ยวจ่ายเงินผู้รับเหมาช่วงคนไทย ซึ่งพบว่าโครงการนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2561 และได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ในช่วงปลายปี 2562 ที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลก ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างและการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์เกิดปัญหาโดยเฉพาะจากประเทศจีน การขนส่งทางเรือก็มีความยากลำบาก ซึ่งในช่วงนั้นประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก จากเดิมที่จะต้องแล้วเสร็จในปี 2566 ต้องขยายเวลาออกมาอีก 2 ปี เป็นแล้วเสร็จปี 2568

แน่นอนว่าผลกระทบจากโควิดทั่วโลกทำให้กิจการร่วมค้า UJV ซึ่งมีการดำเนินงานอยู่ในหลายประเทศเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง และมาระเบิดขึ้นกับโครงการ CFP ช่วงกลางปี 2567  จากกรณีที่ UJV ไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้รับเหมาช่วงของไทย ซึ่งมีการจ้างเหมาช่วงหลายชั้น โดยผู้รับเหมาคนไทยที่รับงานจาก UJV โดยตรงก็มีการไปจ้างเหมาต่อช่วงหลายชั้น บางเนื้องานมีการรับเหมาช่วงต่อกัน 4-5 ช่วง และเมื่อ UJV ไม่จ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วงที่ 1 จึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

และที่แย่กว่านั้นคือสัญญาที่ UJV ทำกับผู้รับเหมาคนไทยระบุในสัญญาว่ากรณีเกิดปัญหาต้องนำเรื่องไปที่อนุญาโตตุลาการสิงคโปร์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าผู้รับเหมาไทยได้มีการศึกษาสัญญาอย่างละเอียดหรือไม่

ที่ผ่านมาไทยออยล์มีความพยายามที่จะจ่ายค่าตอบแทนตรงจากไทยออยล์ไปยังผู้รับเหมาช่วงไทย แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถทำได้เนื่องจากไทยออยล์ทำสัญญาจ้างเหมา UJV แบบเบ็ดเสร็จ ดังนั้นการจ่ายเงินต้องจ่ายตรงกับ UJV เท่านั้นและ UJV มีหน้าที่รับผิดชอบงานทั้งหมด หากไทยออยล์จ่ายตรงกับผู้รับเหมาช่วงจะทำให้ไทยออยล์เป็นผู้ผิดสัญญาทันที ซึ่งที่ผ่านมาไทยออยล์ได้จ่ายค่าจ้างตามงวดงานให้กับ UJV ทุกบาททุกสตางค์ แต่ UJV ไม่นำไปจ่ายให้กับผู้รับเหมาจึงเกิดปัญหาขึ้น

แต้มต่อหรือไม้ตายของไทยออยล์กรณีหากเกิดความเสียหายกับ CFP จากการทำงานของ UJV ซึ่งจะทำให้ไทยออยล์ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ มี 2 ข้อ ที่ระบุเอาไว้ในสัญญาตั้งแต่ต้น คือ

1.บริษัทแม่ของ UJV ทั้ง 3 บริษัท ได้ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา(Parent Company Guarantee) ของ UJV ทั้งหมด จึงเป็นการปิดประตูความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของ UJV 2.UJV ได้มีการวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นหลักประกันสัญญา(Performance Bond) จำนวน 10% ของมูลค่าสัญญาหรือประมาณ 18,000 ล้านบาท  เพื่อค้ำประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าสัญญาที่ไทยออยล์ทำไว้กับ UJV มีความรัดกุมและสามารถครอบคลุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

2.ข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงของผู้รับเหมาช่วงคนไทยและคนงานจำนวนมากที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ทำให้คนเป็นจำนวนมากเข้าใจว่า โครงการพลังงานสะอาดหรือ CFP ของไทยออยล์ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เสมือนว่าโครงการนี้กำลังจะล้มพังครืนลงมา แต่ในข้อเท็จจริงโครงการ CFP ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 90% โดยในส่วนที่ของการผลิตน้ำมันดีเซล ยูโร 5 ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่เป็นปัญหาเป็นเพียง 10% ของโครงการเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นภาพทั้งหมด จึงไม่แปลกที่จะเข้าใจว่าโครงการนี้ต้องล้มประมูลและเริ่มนับหนึ่ใหม่ ซึ่งนั่นหมายความว่าบริษัทไทยออยล์จะเสียหายอย่างหนัก งานนี้ไทยออยล์และผู้รับเหมาช่วงของไทย จึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบร่วมกันจากการไม่ทำตามสัญญาของ UJV

อย่างไรก็ตามในฐานะคนไทยก็ต้องเอาใจช่วยบริษัทของคนไทย และเชื่อมั่นว่าไทยออยล์จะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้โดยเร็ว โดยนายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้เตรียมแนวทางในการแก้ปัญหานี้ให้จบภายในต้นปี 2568 ซึ่งจะเลือกแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

ทั้งนี้คาดว่าไทยออยล์ได้เตรียมไว้อย่างน้อย 3 แนวทาง ได้แก่ 1.บอกเลิกสัญญากับ UJV แล้วคัดเลือกผู้รับเหมารายใหม่ แต่เงื่อนไขนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อง UJV ผิดสัญญา ซึ่งยังมีห้วงเวลาเหลืออยู่จึงยังไม่สามารถดำเนินการในตอนนี้ได้ 2.เจรจาต่อรองกับบริษัทแม่ของ UJV เรื่องความรับผิดชอบตามเงื่อนไขสัญญา(Parent Company Guarantee) เพื่อให้ UJV ดำเนินการต่อไปได้  ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องคุยกันในรายละเอียดต่อไป

TAGS: #ไทยออยล์ #โครงการพลังงานสะอาด #CFP