กรณีหุ้น STARK ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สะเทือนเลือนลั่นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนรายย่อยและสถาบัน
เหตุการณ์นี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายทางการเงิน แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบธรรมาภิบาล (Corporate Governance) ของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งอีกด้วย
หากย้อนไทม์ไลน์ของคดี STARK ผู้เสียหายได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้เสียหายเกือบ 20,000 ราย มูลค่าความเสียหายสูงเป็นอย่างมาก โดยเป็นหุ้นกู้มูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท และเป็นหุ้นสามัญ มูลค่าประมาณ 73,000 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่ลงทุนใน STARK สูญเสียเงินลงทุนมหาศาล ในขณะเดียวกันกองทุนรวมที่มีการถือหุ้น STARK ในพอร์ตการลงทุนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนลดลงเช่นกัน
ซึ่งที่ผ่านมาการร้องเรียนของผู้เสียหายค่อนข้างราบรื่นแม้ว่าฝั่งจําเลยจะมีสิทธิ์ในการคัดค้านให้เป็นคดีแบบกลุ่มก็ตาม ก็เพื่อให้เกิดความยุ่งยากด้วยการเดินหน้าฟ้องทีละคน รวมถึงหมดแรงในการร้องเรียนไปเอง เนื่องจากจำเลยสามารถอ้างได้ว่ามูลค่าความเสียหายไม่เหมือนกัน จะมารวมกลุ่มกันได้อย่างไรเพราะต่างคนต่างซื้อในตลาดฯ
**คดีประวัติศาสตร์คดีแรกของตลาดหุ้นไทย ที่ศาลสั่งให้เป็นคดี Class Action **
สิริพร จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น และได้มีการสร้างระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีองค์ประกอบที่จะช่วยปิดจุดอ่อน 3 เรื่อง ดังนี้
1.นักลงทุน : สร้างความตระหนักรู้ให้แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ตนเอง
2. ทนายความ : ต้องมีความแข็งแกร่งพร้อมท้าชนเพื่อผู้เสียหาย
3. ศาล : ให้ความรู้ในเรื่องระบบเศรษฐกิจ หุ้นกู้ เนื่องจากคดีทางการเงินและตลาดทุนค่อนข้างที่จะซับซ้อนกว่าคดีอื่นเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ที่ผ่านมา TIA ยังได้เปิดระบบออนไลน์ลงทะเบียนผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ไป 2 สองรอบ โดยรอบแรกมีผู้เสียหายเข้ามาลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท ส่วนรอบที่สองมีผู้เสียหาย เข้ามาลงทะเบียน จำนวน 1,207 ราย และได้มีการรับสมัครผู้เสียหายจำนวน 5 ราย ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความเสียสละ และอดทนเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องต่อสู้กันอย่างยาวนานพอสมควร และจุดหมายปลายทางจะได้รับความยุติธรรมอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ก็ไม่สามารถรู้ได้ ที่สำคัญผู้เสียหายที่เป็นตัวแทนทั้ง 5 ราย ต้องมีความหนักแน่นและไม่อ่อนไหวต่อแรงจูงใจที่จะเข้ามาทำให้หวั่นไหวแล้วถอนตัวไปกลางครันอีกด้วย
หากถามว่าการเดินหน้าฟ้องในคดีนี้จะได้รับเงินหรือไม่? เชื่อว่าหลายคนมีคำตอบที่รู้อยู่แล้วภายในใจ แต่ทาง TIA ยังคงมุ่งมั่นในการเป็นกระบอกเสียงและเป็นหัวเรือหลักที่คอยช่วยเหลือผู้เสียหายจากคดี STARK เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน และเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับเคสอื่นๆต่อไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
และล่าสุด วันที่ 18 ธันวาคม 2567 ใช้เวลานับแต่วันฟ้อง จนถึงวันที่มีคำสั่งศาล เป็นระยะเวลา 6 เดือน 12 วัน ล่าสุดศาลศาลแพ่งกรุงเทพใต้” มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ซึ่งถือเป็นคดีแรกของหุ้นสามัญในรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคดีฟ้องแบบกลุ่ม (Class Action)
ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของกระบวนการยุติธรรมในการเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจำเลยในคดียังคงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ผลของการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มจะส่งผลให้ผลของคดีที่ดำเนินการโดยโจทก์ทั้ง 5 ในคดี และคำพิพากษาของคดีดังกล่าว (เมื่อศาลมีคำพิพากษาในลำดับต่อไป) มีผลผูกพันสมาชิกในกลุ่มที่มีลักษณะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันด้วยโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องติดตามความคืบหน้ากรณี STARK โดยไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไป เพราะถือเป็นบทเรียนสำหรับนักลงทุนไม่ว่าหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ในการจะเลือกหุ้นสักตัวมาลงทุน ขณะเดียวกันทางการเองก็ต้องมีกลไกลที่จะจัดการบุคคลหรือบริษัทที่มีเจตนาจะสร้างความเสียหาย และหลอกหากินกับนักลงทุนมีความบริสุทธิ์ใจในการลงทุนหุ้นตัวนั้นๆด้วย