BAFS ตั้งงบลงทุนปีนี้ 1 พันล้านลุยต่อท่อน้ำมัน-พลังงานสะอาด เล็งตั้งคลัง SAFS รองรับเทรนด์โลกการบิน เตรียมดึงพันธมิตรเพิ่ม 2 ราย ส่งเสริมการใช้ในระยะยาว
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ว่าการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดใช้บริการรันเวย์ที่ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิเอื้อต่อธุรกิจให้บริการระบบเติมน้ำมันอากาศยาน โดยคาดการณ์ปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานจะขยายตัว 8-9% หรือมีปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดที่ระดับ 6,300 ล้านลิตร
ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ ยังต้องระมัดระวังจากปัจจัยเศรษฐกิจไทยยังโตไม่เท่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนเนื่องจากมีผลต่อการใช้น้ำมันในประเทศ แต่ในภาพรวมของปีที่ผ่านมายอดใช้น้ำมันทางท่อยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผู้ค้าน้ำมันเปลี่ยนโหมดการขนส่ง จากเดิมรถบรรทุกจากโรงกลั่นน้ำมันภาคตะวันออกขึ้นไปภาคเหนือ แต่ปัจจุบันเป็นการขนส่งน้ำมันทางท่อ เพื่อช่วยลดต้นทุน
สำหรับการเพิ่มทุนในบริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จำกัด (BPT) จำนวน 90 ล้านบาท ตามการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในช่วงไตรมาส 3/2567 ส่งผลให้ BAFS มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BPT อยู่ที่ 75.03% โดยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2-3 รายที่สนใจเข้าซื้อหุ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของ BAFS ลดลงแต่ยังมากกว่า 50% เพื่อนำเงินมาใช้ลงทุนในโครงการเชื่อมต่อระบบท่อจากคลังน้ำมันสระบุรีไปภาคเหนือ
ทั้งนี้ได้กำหนดงบลงทุนไว้ 1,000 ล้าน บาท โดยงบ 50%นำไปใช้ในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันสายหนือระยะที่ 3 (สระบุรี-อ่างทอง) ของ BPT กับบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THAPPLINE) มีระยะทาง 52 กม. โดยเตรียมเปิดให้บริการภายในปี 2569 รองรับการขนส่งน้ำมันทางท่อได้เพิ่มขึ้นกว่า 700 ลิตรต่อปี
ส่วนงบลงทุนส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในธุรกิจ Power ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องของโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม)ในประเทศมองโกเลีย จำนวน 2 โครงการ รวม 51 เมกะวัตต์ คือ โซลาร์ฟาร์มขนาด 21 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2568 และโซลาร์ฟาร์ม ขนาด 30 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2569
นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ที่ร่วมกับกลุ่มบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2569
อย่างไรก็ตามในระยะ5 ปีข้างหน้า (2568-2572) BAFS ได้ปรับโครงสร้างรายได้ของบริษัท เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยจะลดสัดส่วนของธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน จากเดิม 70% เหลือ 50% ขณะที่จะไปเพิ่มในสัดส่วนของธุรกิจเสริมได้แก่ การขนส่งทางท่อน้ำมัน พลังงานหมุนเวียน ในสัดส่วน 40% จากเดิม 30% และที่เหลือเป็นธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น 10%
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวถึง ธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน(SAF) ซึ่งอยู่ในธุรกิจหลักของบริษัท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาสร้างคลังเพื่อรองรับการจัดเก็บและเชื่อมโยงการขนส่งไปยังท่อ ระบบราง และเรือ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่า SAF จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการบินมากขึ้น เนื่องจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)มีกฎกติกากำหนดไว้ว่าสายการบินต้องเริ่มใช้ SAF ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป และในปี 2593 ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ในเครื่องบินอย่างน้อย 75%
ทั้งนี้รูปแบบที่ BAFS ดำเนินการอยู่จะทำหน้าที่การขนส่ง รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่ขนส่ง ที่ผ่านมาได้ลงนามเอ็มโอยูกับพันธมิตรหลายราย ทั้ง บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น (มหาชน) กลุ่มน้ำตาลมิตรผล บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ 2-3 ราย เพื่อเข้ามาร่วมส่งเสริมการใช้ SAF
“BAFS วางเป้าหมายในการปรับโครงสร้างรายได้ โดยเพิ่มในสัดส่วนของธุรกิจเสริม ทั้งพลังงานหมุนเวียน ท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับ SAF ขณะเดียวกันธุรกิจประกอบรถเติมน้ำมันEV ของบริษัท บาฟส์ อินเทค (BAFS INTECH) ก็มีการส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศแล้ว โดยนำโนฮาวมาตอบโจทย์เทรนด์โลก ผมคิดว่าครงนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะเพราะเรามีโนฮาวรถเติมน้ำมัน ซึ่งสเปคไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับลูกค้าปลายทางตอนนี้มีออเดอร์อยู่ 20 คัน ผมมองว่าไม่ได้หยุดแค่รถเติมน้ำมันอากาสยาน รถอะไรก็ได้ที่เป็นรถเฉพาะทาง เช่น รถดับเพลิง รถดูดฝุ่น ผมว่าเราทำได้โนฮาวใกล้เคียงกัน”