KAsset เปิดกลยุทธ์การลงทุน ชูกองทุน K-WealthPLUS สร้างผลตอบแทนระยะยาว
นายวิน พรหมแพทย์, CFA ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย ร่วมกับ J.P. Morgan Asset Management เพื่อนำเสนอมุมมองเชิงลึกที่ครอบคลุมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ผลตอบแทน และความเสี่ยงของสินทรัพย์กว่า 100 ประเภท ในระยะเวลา 10-15 ปีข้างหน้า พร้อมด้วยกลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) และโซลูชันการลงทุนตามช่วงอายุ (Life Path Solutions) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว
โดย บลจ.กสิกรไทย ประเมินแนวโน้มผลตอบแทนการลงทุนในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า พบว่า ภาพรวมการลงทุนหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี จากคาดการณ์ GDP อยู่ที่ 2.4% ส่วนผลตอบแทนตราสารหนี้คาดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.8% และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6% ต่อปี
ในขณะเดียวกันหุ้นต่างประเทศมองว่ายังน่าลงทุน ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของนายโดนัลล์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ทำให้ตลาดมองว่าความรุนแรงด้านสงครามทางการค้ามีโอกาสน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สอดคล้องกับตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ออกมาดูดี และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ทำให้บลจ.กสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถไปต่อได้
ด้านกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย มองว่า หุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยอยู่ที่ 4% ต่อปี มีความน่าสนใจ อาทิ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พลังงาน สื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ หรือในกลุ่มที่ให้ปันผลสูงระดับ 8-10% อย่างกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Reits)
พร้อมแนะนำพอร์ตการลงทุนหลักในกลุ่ม WealthPLUS Series ของบลจ.กสิกรไทย ซึ่งลงทุนในหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก หรือหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ,อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate) และการลงทุนในหุ้นไทยไม่เกิน 2% โดยการกระจายพอร์ตการลงทุนในรูปแบบนี้ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนระยะยาวสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 8-10% ต่อปี
ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ประเมินเป้าหมายดัชนีปี 2568 อยู่ที่ 1,520 จุด จากคาดการเติบโตของ GDP ที่ระดับ 2.3-2.4% สอดคล้องกับจากการใช้จ่ายของภาครัฐฯ แม้ยังมีปัจจัยกดดันจากภาคการส่งออก สงครามการค้า การบริโภคในประเทศ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง หากประเทศไทยสามารถปรับโครงสร้างประเทศ ให้มีธุรกิจใหม่เข้ามาทดแทนเพิ่มเติม จะช่วยลดการพึ่งพาจากภาครัฐบาล การท่องเที่ยว และการบริโภคได้