BLC ผู้นำกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพครบวงจร คาดเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในไตรมาส2/2566-ไตรมาส3/2566
ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพอย่างครบวงจรของประเทศไทย โดยดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายกลุ่มยาสามัญแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งกระบวนการออกแบบและพัฒนาสูตรตำรับยาตามหลักการเภสัชกรรม โดยแบ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาและกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าด้านสุขภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าบริษัทฯ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ (Generic Drugs and New Generic Drugs) ผลิตตามสูตรยาต้นตำรับ (Original Drug) หรือยาจดสิทธิบัตร (Patented Drug) ที่หมดอายุการคุ้มครองแล้ว
2) กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Other health-related products) ประกอบด้วย เครื่องสำอาง (Cosmetics) ผลิตและจัดจำหน่ายเวชสำอางสำหรับบำรุงผิวหน้าและผิวกาย ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ และรับจ้างผลิตให้กับบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องการทำสินค้าของตนเองในลักษณะ OEM ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement)
ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงข้อต่อ กล้ามเนื้อ กระดูก และบำรุงสายตา ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ เจลหล่อลื่น สเปรย์ฉีดกันยุง โดยจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ร้านขายยาชั้นนำ โมเดิร์นเทรด และช่องทางออนไลน์ ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ อย่างทั่วถึง
ภก.ศุภชัย สายบัว ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ BLC) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยที่มีต่ออุตสาหกรรมยาจึงจัดตั้งศูนย์วิจัย BLC เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหน่วยงานวิจัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งเน้นผลิตยาสามัญชื่อใหม่ (New Generic Drugs)
ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพร ด้วยกระบวนการผลิตภายใต้มาตรฐานระดับสากล เช่น GMP, ISO9001, ISO/IEC17025, ISO22000, GHP และ HACCP ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนการผลิตและการควบคุมคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามามีส่วนช่วยในทุกๆ ขั้นตอน เช่น เครื่อง High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ซึ่งใช้ในการตรวจสอบคุณภาพส่วนผสม เครื่องทดสอบการละลาย เครื่องตรวจจับโลหะ เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาและการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
รวมถึงลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาหรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ภก.สมชัย พิสพหุธาร ประธานเจ้าหน้าที่สายบัญชีและการเงิน บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอข่ยหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO) 150 ล้านหุ้น ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ต.ล.ต.) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 และรออนุมัตินับหนึ่งไฟลิ่ง คาดว่าจะสามารถเข้าเทรดได้ภายในช่วงปลายไตรมาส 2/2566 หรือช้าสุดในช่วงต้นไตรมาส 3/2566
สำหรับ ภาพรวมรายได้จากการขายในปี 2562 – 2564 ทำได้ 1,202.0 ล้านบาท, 1,105.3 ล้านบาท, 1,108.3 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการขายในปี 2563 ลดลง 96.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลง 8.0% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
รวมถึงมาตรการการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาล และเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 ตามมาการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาล และอัตราการได้รับวัคซีนของประชาชนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ ทำได้ 0.7 ล้านบาท 13.7 ล้านบาท 51.1 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่งวดผลการดำเนินงาน 9 เดือนของปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 938.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดของ COVID-19 ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมของรัฐบาล ทำให้กลุ่มลูกค้าร้านขายยา และสถานเสริมความงามกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติ ส่งผลให้สินค้าของบริษัทฯ เกือบทุกประเภทมีรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และช่วยสนับสนุนกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 87.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 463.4% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งมีปัจจัยมาจากการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ต้นทุนทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง และสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลบางส่วน