กลุ่มบางจากฯ แจงปี’67 รับ EBITDA 40,409 ล้านบาททำยอดขายน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ 13.8 ล้านลิตร รวมถึงสามารถสร้าง Synergy สูงถึง 6,071 ล้านบาท เกินเป้าหมายกว่าเท่าตัว
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ปี 2567 จะเป็นปีที่เผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้กำไรปรับตัวลดลงจากปีก่อน กลุ่มบริษัทบางจากยังคงสร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขายและการให้บริการ 589,877 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องร้อยละ 53 EBITDA 40,409 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (ที่ไม่รวมรายการพิเศษ) 6,120 ล้านบาท ผ่านการขับเคลื่อนของ 5 กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการตลาด ที่มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน 13,814 ล้านลิตร เติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 61 สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่การรับรู้ Synergy สูงถึง 6,071 ล้านบาท เหนือกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท หลังจากการควบรวมกิจการและรับรู้รายได้เต็มปีของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่กลุ่มบริษัทได้วางไว้ ตอกย้ำถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับกำไรสำหรับงวดปี 2567 จากโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลายของกลุ่มบริษัท ทำให้สามารถชดเชยแรงกดดันบางส่วนจากอัตรากำไรการกลั่นที่อ่อนตัวลงและผลขาดทุนจากสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,184 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.30 บาท
ในขณะเดียวกัน โครงสร้างธุรกิจที่หลากหลาย ยังทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ มีโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ยืนยันด้วยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบางจากฯ โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เป็น A+ ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดตั้งแต่บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับ
นอกจากนี้ บางจากฯ ยังได้รับการประเมินด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ในระดับสูงสุดของโลกด้านความยั่งยืน Top 1% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ใน S&P Sustainability Yearbook 2025 โดย S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล
อย่างไรก็ตามท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในปี 2568 กลุ่มบริษัทบางจากเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการขยาย Synergy อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างรอบคอบและระมัดระวัง
สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันพร้อมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในไตรมาส 2 ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่กลุ่มธุรกิจการตลาดตั้งเป้าขยายสถานีบริการกว่า 100 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 อย่างมั่นคง
ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพเตรียมเปิดโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ (CDMO) แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียว ผ่านการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยในปี 2568 จะมีโครงการโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 9 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในลาว 290 เมกะวัตต์
รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไต้หวัน ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมถึงการขยายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ โดยนำประสบการณ์ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากนอร์เวย์มาต่อยอดขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตั้งเป้านำน้ำมันดิบที่ผลิตได้มาใช้ในโรงกลั่นทั้งสองแห่ง ช่วยสร้างความแข็งแกร่งและ Synergy ให้กับกลุ่มบริษัทบางจาก และเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศยิ่งขึ้น
ด้านน.ส.ภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน กล่าวว่า รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA 5,006 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 62 มีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 258,000 บาร์เรลต่อวัน เติบโตกว่าร้อยละ 16 จากปีก่อน แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงจะมีการปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นตามวาระ (Turnaround Maintenance) ในรอบ 3 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 แต่กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นศรีราชาที่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 147,800 บาร์เรลต่อวัน จากปี 2566 ที่ 101,900 บาร์เรลต่อวัน หนุนกำลังการผลิตของกลุ่มบริษัทบางจากเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ความท้าทายของราคาน้ำมันที่ผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ค่าการกลั่นพื้นฐานลดลง สาเหตุหลักมาจาก Crack Spread ของกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักปรับตัวลง ส่งผลกดดันต่อค่าการกลั่นพื้นฐานปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 ประกอบกับรับรู้ Inventory Loss (รวม NRV) 6,940 ล้านบาท หรือ 2.08 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ด้านบริษัท บีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) ยังได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของธุรกิจการกลั่นน้ำมันส่งผลให้มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 63.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 112.7 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 100 จากปีก่อน อีกทั้งยังเร่งขยายเครือข่ายซื้อขายน้ำมัน Out-Out อย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และเพิ่มช่องทางซื้อขายเพื่อเสริมความคล่องตัวในธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 5,577 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 มีปริมาณการจำหน่าย 13,814 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จากปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยหลักมาจากการขยายเครือข่ายสถานีบริการและการขยายฐานลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์แบรนด์บางจากและเปลี่ยนโลโก้ของสถานีบริการของ BSRC ที่ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ทั่วประเทศเมื่อสิ้นปี 2567 ประกอบกับการปรับปรุงคุณภาพของสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ช่วยผลักดันยอดขายให้เติบโตอย่างโดดเด่น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดผ่านสถานีบริการขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 28.9 โดย ณ สิ้นปี 2567 มีสถานีบริการรวม 2,163 แห่ง สำหรับธุรกิจ Non-Oil มีร้านกาแฟอินทนิล 1,028 สาขา จุดชาร์จ EV กว่า 365 จุด และจุดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น FURiO กว่า 2,050 จุด
กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มี EBITDA 4,817ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปีก่อน รับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ 4 แห่งในสหรัฐฯ และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีการหยุดการผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเตรียมขายไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการสิ้นสุด adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยได้ทั้งหมด อีกทั้งมีการรับรู้กำไรหลังหักภาษีจากการจำหน่ายไปซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น 2,159 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน
ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) มี EBITDA 972 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล (B100) มีกำไรขั้นต้น ปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าร้อยละ 63 จากปีก่อน ตามความต้องการซื้อภายในกลุ่มบริษัทบางจากที่สูงขึ้น หลังจาก BSRC เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทบางจาก ทำให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตตลอดทั้งปีสูงกว่าผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในตลาด
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ มี EBITDA 24,815 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากปีก่อน โดยมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องและการรับรู้ผลการดำเนินงานจากแหล่งปิโตรเลียม Statfjord ที่ได้รับโอนสิทธิ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 และแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2566 หนุนปริมาณการขายเติบโตกว่าร้อยละ 33 จากปีก่อน รวมถึงแหล่งผลิต Brage ที่ได้รับโอนกิจการมาจาก Wintershall Dea โดยมี OKEA เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 อนุมัติให้นำเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีหลังของปี 2567 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 ในอัตรา 0.60 บาทต่อหุ้น จะรวมเป็นเงินปันผลที่จ่ายในปี 2567 ในอัตรา 1.05 บาทต่อหุ้น โดยวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลเป็นวันที่ 14 มีนาคม 2568 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 เมษายน 2568